วันพุธที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ศาสนาคริสต์บทที่ 2 กำเนิดและพัฒนาการของศาสนาคริสต์

บทที่ 2
กำเนิดและพัฒนาการของศาสนาคริสต์
“ศาสนาคริสต์ มีความเป็นมาอย่างไร?”

คริสตชนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ เป็นประวัติศาสตร์ความรอดพ้นของมนุษยชาติที่พระเจ้าเผยแสดงแผนการแห่งความรอดพ้นทางพระเยซูคริสตเจ้า ที่จะช่วยมนุษย์ไปสู่การมีชีวิตที่สมบูรณ์ กำเนิดของของศาสนาคริสต์จึงมีลักษณะคล้ายกับศาสนายูดาห์หรือศาสนายิว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติ ส่วนพัฒนาการของศาสนาคริสต์ จะแยกชัดเจนตั้งแต่การปรากฏมาของพระเยซูคริสตเจ้าและจะไปสิ้นสุดอย่างสมบูรณ์ในการเสด็จมาครั้งที่สองของพระองค์ จึงแบ่งกำเนิดและพัฒนาการของศาสนาคริสต์ รวมถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ดังต่อไปนี้

1. จากยูดาห์ สู่ เยรูซาเล็ม (ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 33)

เริ่มต้นประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นมีบันทึกในหนังสือพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม โดยเฉพาะในหนังสือปฐมกาลซึ่งนำเสนอเกี่ยวกับการกำเนิดสรรพสิ่ง โดยมีพระเจ้าเป็นผู้เนรมิตสรรพสิ่งขึ้นมา การเล่าถึงต้นกำเนิดของมนุษยชาติ[1] เพื่อแสดงให้เห็นว่า แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้น พระเจ้าได้ทรงสร้างทุกสิ่งมาดีทั้งสิ้น แต่ทว่ามนุษย์เองเป็นผู้ก่อให้เกิดความชั่วช้าขึ้นในโลก จนไม่สามารถช่วยตนเองให้รอดพ้นได้ พระเจ้าจึงต้องทรงจัดแผนการกอบกู้มนุษยชาติอย่างที่ได้ทรงกระทำไปแล้ว (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 23) ประวัติศาสต์ช่วงแรกของศาสนาคริสต์จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นของมนุษยชาติ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การปรากฎมาของพระเยซูคริสตเจ้า ในช่วงแรกของประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์ จึงแบ่งได้เป็นสองช่วงสำคัญ คือ ช่วงก่อนการปรากฎมาของพระเยซูคริสตเจ้าและช่วงการปรากฎมาของพระองค์


2.1 ช่วงก่อนการปรากฏมาของพระเยซูคริสตเจ้า : ศาสนายูดาห์

2.1.1 อับราฮัมและประชากรของพระเจ้า

กำเนิดของศาสนาคริสต์มีพื้นฐานเช่นเดียวกับศาสนายูดาห์ เริ่มต้นตั้งแต่กำเนิดโลกและสรรพสิ่ง และช่วงกำเนิดชนชาติอิสราเอล (ชาวยิว/ศาสนายิวหรือยูดาห์) พระเจ้าทรงเรียกบุรุษผู้หนึ่งชื่อ อับราม (ปฐก 12: 1) หรือ อับราฮัม[2] ให้ “ออกจากแผ่นดินของท่าน จากญาติพี่น้อง จากบ้านของบิดา ไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้ท่าน เราจะทำให้ท่านเป็นชนชาติใหญ่ จะอวยพรท่าน จะทำให้ท่านมีชื่อเสียงเลื่องลือ ท่านจะนำพระพรมาให้ผู้อื่น เราจะอวยพรผู้ที่อวยพรท่าน... บรรดาเผ่าพันธุ์ทั้งสิ้นทั่วแผ่นดิน จะได้รับพรเพราะท่าน” (ปฐก 12: 1 – 3) แผ่นดินนี้ คือ คานาอัน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวอิสราเอลในปัจจุบัน นี่คือกำเนิดของชาวอิสราเอล ประชาชาติที่พระเจ้าเลือกสรร หรือประชากรของพระเจ้า (เสรี พงศ์พิศ, 2529: 3) อับราฮัมได้ตอบรับการเลือกสรรของพระเจ้าด้วยด้วยการปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ พระเจ้าทรงทำพันสัญญากับท่าน อับราฮัมจึงเป็นตัวแทนและบิดาของชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือกสรรและเป็นบิดาของผู้มีความเชื่อในพระเจ้า ส่งผลให้ “ทุกชนชาติจะได้รับพระพรเพราะท่าน” (ปฐก 18: 18) อับราฮัมมีบุตรชื่อ อิสอัคซึ่งมีบุตรสองคน คือ เอซาวและยาโคบ และยาโคบนี่เองที่พระเจ้าเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “อิสราเอล” ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิด 12 ตระกูลของชาติอิสราเอล (ประชากรของพระเจ้า)

2.1.2 โมเสสและการออกจากอียิปต์[3]

การเป็นประชากรของพระเจ้า ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไรเลย แต่พวกเขาต้องทำงานหนัก ผจญกับปัญหาความแห้งแล้ง ต้องอพยพหนีความแห้งแล้งไปอยู่อียิปต์ แต่ก็ถูกกดขี่และใช้แรงงานอย่างหนัก จึงต้องดิ้นรนหาทางกลับสู่ถิ่นเดิมของตน[4] และพระเจ้าทรงเลือกสรร “โมเสส” (ปฐก 3: 1 - 20) ให้นำประชากรของพระเจ้ากลับถิ่นเดิม (แผ่นดินคานาอัน) การออกจากอียิปต์นับเป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งสำหรับประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล (ศาสนายูดาห์) เพราะเป็นการพ้นจากความเป็นทาส (ของชาวอียิปต์) สู่ความเป็นไท (ได้กลับแผ่นดินและมีแผ่นดินของตนเอง) เป็นการปลดปล่อยหลุดพ้นจากการกดขี่เป็นทาส เพื่อจะรวมเข้าเป็นประชากรของพระเจ้า (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 74) อันหมายถึงการพ้นจากความตายไปสู่การมีชีวิต อาศัยความช่วยเหลือของพระเจ้า ชาวอิสราเอลจึงทำการฉลองทุกปี (จนทุกวันนี้) งานฉลองนี้เรียกว่า “ปัสกา” หมายถึง การผ่าน (เสรี พงศ์พิศ, 2545: 3 – 4) เพื่อระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงช่วยชาวอิสราเอลให้อพยพจากอียิปต์

2.1.3 พันธสัญญาแห่งซีนาย

เหตุการณ์สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอล (ศาสนายูดาห์) เกิดขึ้นที่ภูเขาซีนาย คือ การที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญาให้พวกเขาเป็น “ประชากรของพระองค์ เป็นกรรมสิทธิ์พิเศษที่ทรงเลือกจากนานาชาติ.. เป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระองค์” (ปฐก 19: 5 – 6) สิ่งที่ควบคู่กับพันธสัญญา คือ “บทบัญญัติ” หรือกฎเกณฑ์ อันเป็นเงื่อนไขหรือการเตรียมตัวที่จะทำให้ชาวอิสราเอลได้รับพระพรจากพระเจ้า พระองค์ทรงมอบหมายหน้าที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นให้กับชาวอิสราเอล คือ ให้เป็นผู้เตรียมตัวรับเสด็จพระผู้ไถ่กู้ให้มนุษย์รอดพ้นจากความทุกข์ทรมานและความตาย ไปสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ (พระแมสซีอาห์)[5] ทั้งนี้ชาวอิสราเอลต้องซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พระเจ้าทรงมอบให้ผ่านทางโมเสส และชาวอิสราเอลก็ “ผ่านการทดลอง” โดยได้รับ “แผ่นดินแห่งพันธสัญญา” (ยชว 23: 43 - 45) แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างจะดำเนินไปอย่างราบรื่น เพราะบ่อยครั้งชาวอิสราเอลก็ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเสมอไป การผจญปัญหารอบด้านของชาวอิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป แต่กระนั้นชาวอิสราเอลก็ยังคงเชื่อมั่นในพระเจ้า ที่ประทานความหวังว่า สักวันหนึ่งพระองค์จะส่งพระผู้ไถ่เพื่อนำพาชาวอิสราเอลให้ประสบกับสันติสุขนิรันดร

2.1.4 พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล

ในฐานะที่ชาวอิสราเอลเป็น “ประชากรของพระเจ้า” ดังนั้น วิถีชีวิตของชาวอิสราเอลจึงเน้นมิติด้านศาสนา ชาวอิสราเอลนำ “บัญญัติ” และกฎเกณฑ์ของพระเจ้า (ที่ประทานให้ผ่านทางโมเสส) เป็นหลักการดำเนินชีวิต การเมือง การปกครองและวิถีชีวิตประจำวัน ความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าแสดงออกด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ เป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมชาวอิสราเอลแต่ละเผ่าให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน โดยมีพัฒนาการการจัดระบบการปกครองและความเชื่อ (ศาสนา) ของชาวอิสราเอล ดังนี้

ก. การจัดระบบการปกครอง

1) การปกครองโดยมีผู้นำเฉพาะกาล : ผู้วินิจฉัย

ชาวอิสราเอลยึดครองแผ่นดินคานาอันได้ประมาณปี 1250 ถึง 1200 ก่อน คริสตศตวรรษ (เสรี พงศ์พิศ, 2545: 6) จากนั้นก็แบ่งผืนแผ่นดินให้แต่ละตระกูล[6] โดยไม่มีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่มีผู้นำซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้สืบทอดอำนาจอันชอบธรรมจากโมเสสและได้รับการรับรองจากพระเจ้า ซึ่งเรียกว่า “ผู้วินิจฉัย” (Judges) อันหมายถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากพระเจ้าเป็นพิเศษ ให้นำชาวอิสราเอลเข้าจู่โจมศัตรูที่เบียดเบียนประชากรของพระองค์ (ทัศไนย์ คมกฤส, 2545: 155) ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระเจ้าให้นำสันติภาพและความยุติธรรมแก่ชาวอิสราเอล กล่าวคือ ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครอง (รูธ 1:1) โดยมี “ซามูเอล” ทำหน้าที่เป็นผู้วินิจฉัยคนสุดท้ายก่อนที่มีการสถาปนาระบบกษัตริย์ปกครองขึ้นในอิสราเอล

2) การปกครองระบบกษัตริย์เป็นศูนย์กลาง

เนื่องจากชนชาติอื่นๆ รอบๆ ชาวอิสราเอลมีกษัตริย์ปกครอง ชาวอิสราเอลจึงอยากมีกษัตริย์แบบชาติอื่นบ้าง ชาวอิสราเอลจึงวอนขอกษัตริย์จากพระเจ้า ผ่านทางซามูเอล จึงได้ “ซาอูล” (1 ซมอ 11: 6) เป็นกษัตริย์องค์แรก ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำชาวอิสราเอล แต่ซาอูลเป็นกษัตริย์ที่ไม่ค่อยซื่อสัตย์ต่อพระเจ้ามากนัก[7] ต่อมากษัตริย์ดาวิดได้ขึ้นครองราชย์ ซึ่งนับเป็นรัชสมัยที่รุ่งเรืองและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในพระคัมภีร์[8] กษัตริย์ดาวิดสามารถรวมอาณาจักรอิสราเอลให้เป็นปึกแผ่น มั่นคง และชาวอิสราเอลถือว่าดาวิดเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพราะเป็นผู้มีความศรัทธาและซื่อสัตย์ต่อการดำเนินตามธรรมบัญญัติของพระเจ้า ดาวิดจึงเป็นกษัตริย์ที่เป็นแบบอย่างของการมีความเชื่อศรัทธาต่อพระเจ้าและการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ ซึ่งเป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมชาวอิสราเอลแต่ละเผ่าให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “ดาวิดทำอะไรก็สำเร็จทุกประการ เพราะพระเจ้าทรงสถิตอยู่กับเขา” (1 ซมอ 18: 14) ผลจากการดำเนินชีวิตอย่างซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า ทำให้ราชวงศ์ของดาวิดได้ปกครองชาวอิสราเอลต่อไป “ราชวงศ์ของเจ้าและอาณาจักรของเจ้าจะดำรงอยู่ต่อหน้าเจ้าอย่างมั่นคงและเป็นนิตย์ และบัลลังก์ของเจ้าจะถูกสถาปนาไว้เป็นนิตย์” (2 ซมอ 8: 16) บรรดาลูกหลานของดาวิดได้ปกครองอิสราเอลและที่สำคัญที่สุดคือ พระเจ้าประทานพระผู้ไถ่ให้บังเกิดในเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด[9]

ข.นครเยรูซาเล็มและพระวิหาร

กษัตริย์ดาวิดได้สถาปนา “นครเยรูซาเล็ม” ให้เป็นราชธานีของอาณาจักรอิสราเอลและอัญเชิญหีบพันธสัญญาแห่งซีนายมาประดิษฐานในนครหลวงใหม่ (2 ซมอ 6) นครเยรูซาเล็มจึงกลายเป็นศูนย์รวมใจของอิสราเอลโดยแท้จริง ทั้งด้านการเมืองและทางศาสนา (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 178) จึงถือได้ว่านครเยรูซาเล็ม เป็นศูนย์กลางของศาสนาของชาวยิวหรือยูดาห์ไปโดยปริยาย และยิ่งกว่านั้น “ซาโลมอน” โอรสของดาวิดได้เป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลและมีบทบาทสำคัญในการสร้าง “พระวิหารแห่งเยรูซาเล็ม” เพื่อเก็บหีบแห่งพันธสัญญา ซึ่งโมเสสได้รับมอบจากพระเจ้าที่ภูเขาซีนาย “พระวิหาร” นี้เป็นเครื่องหมายสำคัญถึงการประทับอยู่ของพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ ต่อมาซาโลมอนไม่ซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติของพระเจ้า ไปกราบไหว้เทวรูปของชนต่างชาติ (เสรี พงศ์พิศ, 2545: 7) ส่งผลให้ในปี 587 ก่อนคริสตศตวรรษ อาณาจักรอิสราเอล รวมทั้ง “พระวิหาร” ที่ชาวอิสราเอลภูมิใจว่าเป็นเครื่องหมายการประทับอยู่ของพระเจ้า ถูกทำลายไปด้วยน้ำมือของชาวบาบิโลน ชาวอิสราเอลถูกกวาดต้อนเป็นเชลยและเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรบาบิโลน

ราวปี 538 ก่อนคริสตศตวรรษ กษัตริย์ไซบรัส (กษัตริย์แห่งบาบิโลน) ได้อนุญาตให้ชาวอิสราเอลกลับแผ่นดินและโปรดให้สร้างพระวิหารขึ้นใหม่จนแล้วเสร็จราวปี 515 ก่อน คริสตศตวรรษ ทำให้พระวิหารแห่งใหม่ที่นครเยรูซาเล็ม เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางศาสนาของชาวอิสราเอล มีการจัดระบบศาสนกิจ ปฏิรูปศาสนาและสังคมอันเป็นพื้นฐานของศาสนายูดาห์ในเวลาต่อมา (ทัศไนย์ คมกฤส, 2545: 7)

ค. ประกาศก

นอกจากบรรดาผู้นำทางการปกครองแล้ว ชาวอิสราเอลเชื่อว่าพระเจ้าประทานบรรดา “ประกาศก” แก่ประชากรของพระองค์ เพื่อช่วยในการให้การอบรมสั่งสอน ตักเตือนและให้การศึกษาแก่ชาวอิสราเอลในเรื่องการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า

2.1.5 สรุปลักษณะเฉพาะของชาวอิสราเอล (ยูดาห์)

ชาวคริสต์ให้การยอมรับชาวอิสราเอลในฐานะที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น พระเจ้าทรงเลือกสรรให้ชาวอิสราเอลเป็นประชากรของพระองค์ ทรงสัญญาจะส่ง “พระแมสสิอาห์” หรือผู้กอบกู้มนุษย์ให้พ้นจากความทุกข์ ให้เสด็จลงมาในประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอล โดยสรุปลักษณะเฉพาะของชาวอิสราเอลได้ดังนี้ (เสรี พงศ์พิศ, 2545: 11)

ก. แนวคิดเรื่อง “พระแมสสิอาห์” (Messianism)

ชาวอิสราเอลมองชีวิตของตนว่า ได้รับความทุกข์ยากลำบากเพราะทำบาป (ไม่ซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติของพระเจ้า) แต่พระเจ้าจะส่ง “บุคคลผู้หนึ่ง” คือ พระคริสต์ หรือ พระแมสสิอาห์ (ภาษาฮีบรูใช้คำว่า Messiah ในขณะที่ภาษากรีก ใช้คำว่า Christ) (Terrance, 1994: 4) ลงมาในประวัติศาสต์ชาติอิสราเอลเพื่อมาช่วยให้ชาวอิสราเอลพ้นจากบาป และเมื่อพ้นจากบาปก็จะพ้นจากความทุกข์ยากในชีวิต

ข. ความสำนึกทางประวัติศาสตร์ (Sense of History)

ชาวอิสราเอลมองประวัติศาสตร์ว่า มีลักษณะเป็นวิวัฒนาการ มีความต่อเนื่องโดยมีพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง เริ่มต้น ดำเนินไปและสิ้นสุดสมบูรณ์ในพระเจ้า ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ (ชาวอิสราเอล) จึงเป็นประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า หรือประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่พระเจ้าทรงสัญญาจะช่วยมนุษย์ให้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์นั่นเอง

ข. แนวคิดเอกเทวนิยม (Monotheism)

ชาวอิสราเอลเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวและเชื่อมเหตุการณ์ทุกอย่างไปสู่ความเชื่อในพระเจ้า วิถีชีวิตของชาวอิสราเอลมีพื้นฐานบทกฎเกณฑ์ที่เชื่อว่าพระเจ้าประทานแก่พวกเขาและการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ แสดงถึงความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า และเป็นแนวทางสู่การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ เพราะพระเจ้าทรงรับรองและรับประกันกฎเกณฑ์เหล่านั้น

2.2 การปรากฏมาของพระเยซูคริสตเจ้า

2.2.1 บริบททางสังคม

ก. อิสราเอลเป็นเมืองขึ้นของจักรวรรดิ์โรมัน

ไม่นานก่อนการบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า จักรวรรดิ์โรมันเป็นมหาอำนาจของโลก ได้เข้ายึดครองดินแดนต่างๆ รวมทั้งดินแดนคานาอัน (ปาเลสไตน์... ราวปี 63 ก่อน ค.ศ.) ด้วย จักรพรรดิ์โรมันแต่งตั้งผู้ปกครองในดินแดนต่างๆ ที่เข้ายึดครอง แต่เนื่องจากแผ่นดินคานาอัน ไม่ค่อยมีความสำคัญอะไรมากนัก จักรวรรดิ์โรมันจึงไม่ได้เข้มงวดต่อประชากรในดินแดนนี้มากนัก แม้มีข้าหลวงจากจักรวรรดิ์โรมันมาปกครอง แต่ชาวอิสราเอลก็มีอิสระพอสมควรในการดำเนินชีวิตรวมถึงการปฏิบัติศาสนกิจ

ข. ความต้องการเป็นไท

แม้จักรวรรดิ์โรมันจะไม่เข้มงวดต่อชาวอิสราเอลมากนัก แต่ชาวอิสราเอลก็พยามยามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของโรมัน โดยมีความหวังว่าพระเจ้าจะส่ง “ผู้นำ” หรือพระแมสสิอาห์มากอบกู้ประชากรของพระองค์ ทำให้อิสราเอลเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่

ค. ขบวนการทางการเมืองและศาสนา

ชาวยิวพยายามปลดปล่อยตนเองจากการเป็นเมืองขึ้นของโรมัน โดยการตั้งกลุ่มหรือขบวนการต่างๆ โดยมีศาสนายิวเป็นพื้นฐานและศูนย์รวมใจ[10]ในการต่อสู้กับพวกโรมัน กลุ่ม/ขบวนการที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1) กลุ่มซีลอท (ผู้รักชาติ) ขบวนการนี้ต่อสู้กับพวกโรมันแบบกองโจรใต้ดิน มักก่อการกบฏและซุ่มโจมตีพวกโรมันบ่อยๆ ด้วยการใช้วิธีการที่รุนแรง

2) กลุ่มฟาริสี ต่อต้านพวกโรมันแต่มีความคิดว่าไม่ควรจับอาวุธขึ้นต่อสู้ เพราะโอกาสชนะมีน้อยและโอกาสเสี่ยงตายมีสูง จึงเน้นปฏิรูปชาติยิวเองเสียมากกว่า เพราะเชื่อว่าการที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพวกโรมัน เพราะชาวยิวทอดทิ้งพระบัญญัติและขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ

3) กลุ่มเอสซีน มีแนวคิดคล้าย ๆ พวกฟาริสี แต่ถือเคร่งครัดกว่า โดยการแยกตัวออกไปจากสังคมไปตั้งค่ายในที่กันดารอยู่กันเป็นกลุ่ม ติดต่อสัมพันธ์เฉพาะสมาชิกในกลุ่มของตนเท่านั้น โดยมีความคิดว่าวาระสุดท้ายของโลกใกล้มาถึงแล้ว พระผู้ไถ่กำลังจะเสด็จมาเพื่อเป็นผู้นำทัพและทำลายพวกโรมันให้สิ้นสลายไป

4) พวกซัดดูสี ยึดมั่นในขนบธรรมเนียมของศาสนายิว แต่ในขณะเดียวกันพยายามประสานงานกับพวกโรมันเพื่อผลประโยชน์ในการดำเนินชีวิต

5) พวกคัมภีรจารย์และพวกธรรมาจารย์ เป็นพวกปัญญาชน เป็นนักวิชาการทางด้านกฎหมาย เทววิทยาและเป็นอาจารย์ผู้สอนของชาวยิวในสมัยนั้น

แม้บริบททางสังคมที่ตกเป็นเมืองขึ้นของโรมัน แต่ชาวอิสราเอลยังคงมีความเชื่อมันในพระสัญญาของพระเจ้า วิถีชีวิตของชาวอิสราเอลยังคงมีความเข้มงวดในการปฏิบัติศาสนกิจและการปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระเจ้า มีการศึกษาและตีความบทบัญญัติเป็นรายละเอียดปลีกย่อยให้เข้ากับยุคสมัยรวมทั้งการสอนให้ปฏิบัติตามตัวอักษรของบทบัญญัติและการตีความอย่างเคร่งครัด มีการกำหนด “กรอบ” ของการปฏิบัติ เน้นสิ่งที่ปฏิบัติออกมาภายนอก โดยมีความหวังว่าถ้าปฏิบัติตามหลักเหล่านี้แล้ว จะทำให้ได้รับความรอดพ้น

2.2.2 การบังเกิดและการดำเนินชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ได้เล่าเรื่องพระเยซูคริสตเจ้าทรงบังเกิดอย่างเรียบง่ายในครอบครัวของคนที่มีฐานะปานกลาง[11] หัวหน้าครอบครัวชื่อ โยเซฟ[12] เป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด มีมารดาชื่อ มารีอา (มีบิดาชื่อยออากิม และมารดาชื่อ อันนา) (Bezancon, 1990: 36) พระองค์ทรงมีวิถีชีวิตพื้นฐานที่เรียบง่ายซึ่งสะท้อนถึง “ความเรียบง่าย” ความจริงใจในความสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ซึ่งดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับแนวความคิดของผู้นำสังคมชาวยิวในสมัยนั้น ที่เน้นการประพฤติปฏิบัติตนในการสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าอาศัยการปฏิบัติตามกฎ จารีต ธรรมเนียม ประเพณีตามตัวอักษร

ก. การบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า

ในพันธสัญญาใหม่ (พระวรสาร) เล่าถึงการบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้าโดยย้ำถึงการที่พระเยซูคริสตเจ้าเป็นบุคคลแห่งพันธสัญญาที่พระเจ้าสัญญาจะประทานพระผู้ไถ่ ผู้ทรงบังเกิดในเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด (มธ 1: 1-17)โดยพระมารดาของพระองค์ (พระนางมารีย์) ทรงครรภ์ด้วยอำนาจของพระเจ้า (มธ 1: 18) ทรงบังเกิดในระหว่างการเดินทางไปทำธุระของบิดามารดาที่ต้องไปลงทะเบียนสำมะโนครัวที่เมืองเบทเลเฮม ตามคำสั่งของจักรพรรดิ์โรมัน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่าถึงการบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า คือ การบังเกิดของพระองค์ เป็นการที่พระเจ้าทรงกระทำตามพระสัญญาของพระองค์ ด้วยการเสด็จมาบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งได้รับสมญาว่า “อิมมานูเอล” หรือ “พระเจ้าสถิตกับเรา” (มธ 1: 24) เพื่อช่วยมนุษยชาติสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในพระองค์ ดังพระสัญญาที่พระองค์ประทานแก่ประชากรของพระองค์ตามการเล่าขานตั้งแต่พันธสัญญาเดิม

ข. ปฐมวัยของพระเยซูคริสตเจ้า

ไม่ได้มีบรรยายมากนักในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ พระวรสารทั้งสี่ บอกแต่เพียงว่าพระเยซูเติบโตที่นาซาเร็ท เมืองเล็ก ๆ ในแคว้นกาลิลี (ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกพระองค์ว่า “เยซู ชาวนาซาเร็ท”) บิดาเป็นช่างไม้ มารดาเป็นแม่บ้านเหมือนสตรีชาวยิวทั่วไป บิดามารดาสอนให้พระองค์ประพฤติปฏิบัติตนดังเช่นชาวยิวที่เลื่อมใสศรัทธาต่อธรรมบัญญัติของพระเจ้า แม้ว่าในช่วงปฐมวัยของพระเยซูคริสตเจ้า ทรงดำเนินชีวิตในแบบเรียบง่าย สมถะแบบสามัญชนทั่วไป แต่พระองค์ทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าที่สำนึกพระองค์เองถึงภารกิจของการประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น

ค. การเริ่มต้นประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้า

พระเยซูคริสตเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างเปิดเผย (ตามที่มีเล่าในพระวรสาร) เริ่มต้นด้วยการรับพิธีล้างจากท่านยอห์น บัปติส[13] ผู้ประกาศเตือนใจให้ชาวยิวกลับใจเพื่อต้อนรับพระผู้ไถ่ที่จะเสด็จมาตามที่พระเจ้าสัญญา[14] พระคัมภีร์เล่าว่าพระเจ้าทรงยืนยันว่าพระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้า (มธ 3: 17) ทรงเสด็จไปยังถิ่นทุรกันดารเพื่ออธิษฐาน ภาวนา จากนั้นทรงเริ่มต้นประกาศ “สาร” ของพระเจ้าว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาใกล้แล้ว ให้ทุกคนกลับใจ เปลี่ยนแปลงแก้ไขวิถีชีวิตของตน

หลังจากนั้น พระเยซูคริสตเจ้าทรงเลือกสาวกที่ใกล้ชิด 12 ท่านให้ติดตามและอยู่กับพระองค์ ซึ่งสาวกทั้งหมดเป็นสามัญชน ส่วนใหญ่เป็นชาวประมง (อาชีพยอดนิยมในสมัยนั้น) สาวกที่ใกล้ชิดทั้ง 12 ได้แก่ ซีมอน (เปโตร) ยากอบ ยอห์น อันดรูว์ ฟิลิป มัทธิว บาร์โธโลมิว โทมัส ยากอบ ธัดเดอัส ซีโมน และยูดาส (มก 3: 16 – 19) ในภายหลัง พระองค์ทรงแต่งตั้งให้ซีมอน (เปโตร หรือ ปีเตอร์) เป็นหัวหน้า (มธ 16 : 18)

ง. บุคลิกภาพของพระเยซูคริสตเจ้า

ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะในพระวรสารนักบุญลูกา นำเสนอให้เห็นถึงบุคลิกภาพของพระเยซูคริสตเจ้าว่าพระองค์ทรงเป็น “ผู้อ่อนโยน” และเต็มด้วยความเมตตา สงสารผู้อื่น เน้นความรักของพระองค์ต่อคนบาป บันทึกการให้อภัย พระเยซูเป็นผู้ใจดีและมีจิตใจอ่อนโยน (ลก 15 : 1, 7, 10, 7: 36 – 50) ทรงปฏิบัติตนอย่างเรียบง่ายและพร้อมที่จะเป็นมิตรกับทุกคนโดยเฉพาะกับเด็กๆ หรือแม้แต่คนเก็บภาษี[15] คนโรคเรื้อน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ประชาชนในสมัยนั้นไม่คบหาสมาคมด้วย บุคลิกภาพที่พระวรสารทั้งสี่ย้ำเสมอ คือ การมีความสงสารอย่างสุดซึ้งต่อคนจนและคนถูกกดขี่

2.2.3 บทบาทและกิจการที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงกระทำ

ในพระคัมภีร์คริสตชนได้เอ่ยพระนามพระเยซูคริสตเจ้าหลากหลาย เช่น บุตรมนุษย์ ผู้รับใช้ที่ทนทุกข์ ลูกแกะพระเจ้า ฯลฯ (จนถึงกับมีการนำเสนอว่า “พระเยซู บุรุษร้อยนาม”) แต่ลักษณะเด่นที่สุดของพระเยซู คือ การเป็นบุคคลที่พระเจ้าสัญญาจะประทานให้แก่ประชากรของพระองค์ คือ “พระแมสซีอาห์” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมได้ทำนายถึงบทบาทและกิจการของพระแมสซีอาห์ (พระผู้ไถ่) ที่พระเจ้าส่งมาช่วยเหลือมนุษยชาติ โดยสรุปบทบาทและภารกิจของพระเยซูได้ในฐานะพระแมสซีอาห์ที่พระเจ้าสัญญาได้สามลักษณะ คือ การเป็นอาจารย์ผู้สอน (ประกาศก) สงฆ์ (ผู้ทำให้ศักดิ์สิทธิ์/บรรลุถึงชีวิตนิรันดร) และกษัตริย์ (ผู้นำความรอดพ้นพ้น)

ก. การเป็นประกาศก (ประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น)

พันธสัญญาเดิมเล่าถึงพระเจ้าทรงเลือกสรรบรรดาประกาศก ให้ทำหน้าที่ประกาศสอนในนามของพระเจ้า ตักเตือนประชากรให้ซื่อสัตย์ต่อพระยาเวห์ ประกาศกต่างๆ ในพันธสัญญาเดิมยังได้กล่าวถึง “พระแมสสิอาห์” ในฐานะประกาศกที่พระเจ้าส่งมาเพื่อประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะในพระวรสารทั้งสี่ ได้เล่าถึงฝูงชนจำนวนมาก ทุกประเภท ทุกชนชั้นในสังคมในสมัยนั้นได้ติดตามฟังการเทศนา “ประกาศข่าวดี” ของพระเยซูคริสตเจ้า มีประชาชนจำนวนมากติดตามและเป็นศิษย์ของพระองค์ พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นเหมือนกับ “ผู้รู้” หรือ “ครู” ท่านหนึ่งในสมัยนั้น ที่ประกาศเทศน์สอนฝูงชนให้มีความเชื่อมั่นศรัทธาต่อพระเจ้า พระเยซูคริสตเจ้าทรงยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นอาจารย์ “ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์...ถูกแล้วเราเป็นอย่างนั้นจริง” (ยน 13: 13) ทรงสั่งสอนฝูงชนทั้งตามลานสาธารณะและในศาลาธรรม รวมทั้งในพระวิหาร (ลก 20: 47) แต่สิ่งที่พระเยซูทรงปฏิบัติต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ ในสมัยนั้น คือ พระองค์สอนอย่างผู้มีอำนาจ (มก 1: 22) สอนโดยการใช้อุปมา (นิทานเปรียบเทียบ) (มธ 18 : 23 – 35. 20: 1 – 16, ยน 14 : 1-10) สอนโดยการใช้การเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และที่สำคัญที่สุด คือ พระเยซูสอนถึงท่าทีและความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ในฐานะที่พระเจ้าเป็น “พระบิดา” (ลก 11: 2) รวมถึงแนวปฏิบัติที่ถูกต้องสู่การมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ โดยเน้นความเรียบง่าย จริงใจ ไม่ใช่ยึดตามระเบียบกฎเกณฑ์ตามลายลักษณ์อักษร เหมือนกับที่อาจารย์สมัยนั้นสอนประชาชน

บทบาทการเป็นอาจารย์ผู้สอนของพระเยซูคริสตเจ้ายังมีลักษณะพิเศษต่างจากอาจารย์ในสมัยนั้น เพราะพระองค์ทรงทำอัศจรรย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การบำบัดรักษาโรค” (มก 1: 29 – 33, 3) ทรงขับไล่ปีศาจ (มก 1: 23 -28) ปลุกคนตายให้กลับมีชีวิต (มก 5: 21) การทำอัศจรรย์ของพระเยซูคริสตเจ้ามีความหมายมากกว่าการรักษาให้หายในด้านร่างกาย แต่เป็นการบำบัดรักษาให้มนุษย์หลุดพ้นจากบาปที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์และต้องตาย การบำบัดรักษาของพระเยซูคริสตเจ้าจึงเป็นเครื่องหมายของการเอาชนะบาป สู่การมีชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า อันเป็นโลกใหม่ที่เป็น “ฟ้าใหม่ แผ่นดินใหม่” หรือการบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในอาณาจักรของพระเจ้า (ชีวิตนิรันดร) นั่นเอง

นอกจากนั้น พระเยซูคริสตเจ้ายังมีคำคมที่ฝากข้อคิดเตือนใจแก่ผู้ฟังการเทศนาของพระองค์ เช่น “ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย” (ลก 6: 41) “ท่านอยากให้เขาทำต่อท่านอย่างไร ก็จงทำต่อเขาอย่างนั้นเถิด” (ลก 6: 31) เป็นต้น

ข. การเป็นสงฆ์ (ผู้ทำให้ศักดิ์สิทธิ์/บรรลุถึงชีวิตนิรันดร)

ในพันธสัญญาเดิม ให้ความสำคัญต่อการประกอบศาสนพิธี โดยเน้นบทบาทของ “สงฆ์/สมณะ” ที่เป็นคนกลางระหว่างประชาชนกับพระเจ้า พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ได้รับการเลือกสรรจากพระเจ้าเป็นพิเศษเพื่อถวายบูชาและเพื่อนำพระพรของพระเจ้ามาสู่ประชากรของพระองค์ ชาวอิสราเอลมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องถวายบูชาต่อพระเจ้าผ่านทางศาสนบริกรสงฆ์ (อพย 32: 25 – 29. กดว 3: 12 – 13, 41) โดยเฉพาะในพระวิหารแห่งเยรูซาเล็ม บทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของพระเยซูคริสตเจ้า คือ การเป็นสงฆ์ คนกลางระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์ด้วยการถวายบูชา แต่ความพิเศษของการทำหน้าที่สงฆ์ของพระเยซูคริสตเจ้า คือ พระองค์ถวายชีวิตของพระองค์เองเป็นเครื่องบูชาที่สมบูรณ์แบบ เพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ (มธ 16: 21) ทรงยอมหลั่งพระโลหิตและพระชนมชีพของพระองค์บนไม้กางเขน (มก 10: 45, 14: 24) “ครั้งเดียวตลอดกาล” ทำให้มนุษย์ได้รับความชอบธรรมและสามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า “แล้วทุกคนก็ได้รับความชอบธรรมเป็นของประทาน.. อาศัยการไถ่กู้เราให้เป็นอิสระในพระคริสตเยซู พระเจ้าทรงสถาปนาพระเยซูเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป” (รม 3: 24 – 25)

ค. การเป็นกษัตริย์ (ผู้นำความรอดพ้น)

สืบเนื่องจากพระคัมภีร์พันสัญญาเดิม มีข้อความระบุว่าพระแมสสิอาห์จะเป็นกษัตริย์และผู้นำของชนทุกชาติ สืบเชื้อวงศ์กษัตริย์ดาวิด เป็นกษัตริย์ในอุดมคติที่พระเจ้าทรงประทานให้เพื่อกอบกู้ประชากรของพระองค์ให้พ้นจากความเป็นทาส สู่การเป็นไท พันธสัญญาใหม่ (พระวรสาร) ได้นำเสนอชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้า พระแมสสิอาห์ ผู้นำที่ปลดปล่อยประชากรของพระเจ้าให้เป็นอิสระ แต่กระนั้น การเป็นกษัตริย์ของพระเยซูคริสตเจ้าก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ชาวอิสราเอลเข้าใจ ในขณะที่ชาวอิสราเอลกำลังรอคอยกษัตริย์ที่พระเจ้าส่งมาเพื่อขับไล่ชาวโรมัน และสถาปนาอาณาจักรอิสราเอลขึ้นใหม่ (ตามความเข้าใจของชาวอิสราเอลในสมัยพระเยซูคริสตเจ้า) แต่การเป็นกษัตริย์ของพระเยซูคริสตเจ้า คือ การเป็นกษัตริย์แห่งจิตใจ ที่ให้อภัยคนบาปที่สำนึกผิด ในพระวรสารมีบันทึกการให้อภัยคนบาป (ลก 7: 36 – 50, 15: 11 – 32) “คนสบายดีไม่ต้องการหมอ แต่คนเจ็บไข้ต้องการ เราไม่ได้มาเพื่อเรียกคนชอบธรรม แต่มาเพื่อเรียกคนบาป” (มก 2: 17)

ชีวิตของพระเยซูในฐานะกษัตริย์ จึงไม่ใช่กษัตริย์หรือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทางอาณาจักร แต่หมายถึง การเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สู่ความรอดพ้นพ้นที่พระเจ้าทรงสัญญาจะประทานให้แก่ประชากรของพระองค์ (ยน 18: 33 – 37)

2.2.3 สาระคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า

ก. คำสอนเรื่อง “อาณาจักรพระเจ้า”

ในช่วง 3 ปีแห่งการประกาศสอนของพระเยซูคริสตเจ้า เนื้อหาสาระของการประกาศสอนของพระองค์คือ การประกาศข่าวดีเกี่ยวกับอาณาจักรของพระเจ้า (The Kingdom of God)
ดังที่พระองค์ตรัสว่า “เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจและเชื่อข่าวดีเถิด” (มก 1: 15) ซึ่งสรุปได้สามประเด็น คือ

1) อาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้วโดยทางพระเยซูคริสตเจ้า หมายความว่า การรอคอย “พระแมสซีอาห์” ของชาวยิวได้จบสิ้นลงแล้ว เพราะพระเยซูคริสตเจ้าคือพระแมสซีอาห์ที่พระเจ้าส่ง พระเยซูคริสตเจ้าทรงนำอาณาจักรของพระเจ้ามายังประชากรของพระองค์ ตามที่ได้ทรงสัญญาไว้

2) อาณาจักรของพระเจ้าไม่ใช่อาณาจักรแบบโลก หรือทางการเมือง แต่เป็นอาณาจักรในอุดมคติที่ได้บรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า

3) อาณาจักรของพระเจ้าเป็นการท้าทายให้มนุษย์แต่ละคนมุ่งถึง กล่าวคือ เพื่อบรรลุถึงอาณาจักรของพระเจ้า มนุษย์ต้องร่วมมือกับพระเจ้าในการ “ทุ่มเทชีวิต” สู่ชีวิตที่สมบูรณ์ (อาณาจักรของพระเจ้า) ด้วยความเชื่อและแสดงออกด้วยการมุ่งสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้าด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์อย่างจริงจังตามบทบัญญัติแห่งความรักที่พระเยซูคริสตเจ้านำเสนอ

เราจึงกล่าวได้ว่าอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ (Already but not yet) โดยจะสมบูรณ์ในวาระของการเสด็จครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า

ข. วิถีสู่อาณาจักรพระเจ้า (อาณาจักรสวรรค์)

พระเยซูคริสตเจ้าได้สอนวิถีมุ่งสู่อาณาจักรพระเจ้าโดยสรุปได้สองหลักการ คือ บัญญัติแห่งความรักและบุญลาภแปดประการ

1) บัญญัติแห่งความรัก กล่าวคือ “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดสติปัญญาของท่าน นี้คือบทบัญญัติเอกและเป็นบทบัญญัติแรก บทบัญญัติประการที่สองก็เช่นเดียวกันคือ ท่านต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศกก็ขึ้นอยู่กับบัญญัติสองประการนี้” (มธ 22: 37 – 39)

2) บุญลาภแปดประการ กล่าวคือ “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ผู้เป็นทุกข์โศกเศร้า ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับการปลอบโยน ผู้มีใจอ่อนโยน ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก ผู้ใดหิวกระหายความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะอิ่ม ผู้มีใจเมตตา ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้รับพระเมตตา ผู้มีใจบริสุทธิ์ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้เห็นพระเจ้า ผู้สร้างสันติ ย่อมเป็นสุข เพราะเขาจะได้ชื่อว่าเป็นบุตรของพระเจ้า ผู้ถูกเบียดเบียนข่มเหงเพราะความชอบธรรม ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา ท่านทั้งหลายย่อมเป็นสุข เมื่อถูกดูหมิ่น ข่มเหงและใส่ร้ายต่าง ๆ นานาเพราะเรา จงชื่นชมยินดีเถิด เพราะบำเหน็จรางวัลของท่านในสวรรค์นั้นยิ่งใหญ่นัก” (มธ 5: 1 – 12)

2.2.4 การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของของพระเยซูคริสตเจ้า

ก. ผู้รอคอยพระแมสซีอาห์ กลับเป็นผู้ฆ่าพระแมสซีอาห์เอง

ชาวยิวรอคอยพระแมสซีอาห์ด้วยความหวังว่าจะมาช่วยกอบกู้และสถาปนา “อาณาจักรอิสราเอล” ที่ยิ่งใหญ่ นานาชาติจะถูกสยบภายใต้การนำของพระแมสซีอาห์ที่พระเจ้าประทานให้ การประกาศข่าวดีแห่งอาณาจักรพระเจ้าและการประกาศถึงการเป็น “พระแมสซีอาห์” ของพระเยซูคริสตเจ้า เป็นการสวนกระแส สวนทางกับ “ความถูกใจ” ของชาวยิวในสมัยนั้น คำสอนและวิถีปฏิบัติของพระเยซูคริสตเจ้าบาดใจผู้นำทางศาสนา ที่สุดจึงพร้อมใจกันไปร้องเรียนข้าหลวงโรมัน (ปอนตีอัตปีลาต) ให้ตัดสินประหารชีวิตพระองค์ ให้ตายบนไม้กางเขนในฐานะ (ผู้อ้างตนว่า) เป็น “กษัตริย์ของชาวยิว” (มก 15: 26, ยน 19: 19 – 20)

ข. การรับทรมาณ การสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพ

การประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 3 ปี เหตุการณ์ที่ถือว่าสำคัญที่สุดในชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าที่ถือว่าสำคัญที่สุดและเป็นศูนย์กลางความเชื่อคริสตชน คือ การรับทรมาน การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้าที่พันธสัญญาใหม่บันทึกอย่างละเอียดกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ในชีวิตของพระองค์ เป็นหัวใจความเชื่อคริสตชน เพราะภารกิจของพระเยซูคริสตเจ้าได้เสร็จสมบูรณ์อาศัยเหตุการณ์นี้ โดยพระวรสารทั้งสี่ได้เล่าลำดับเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (มก 11 – 16, มธ 26 – 28, ลก 22 - 24, ยน 7 – 21)

1) การเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม

ก่อนเทศกาลฉลองปัสกาของชาวยิว[16] พระเยซูคริสตเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มพร้อมสาวก ประชาชนที่ศรัทธารู้ข่าวก็พากันออกมาต้อนรับและติดตามเป็นขบวน มีการขับร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าและเชิดชูพระองค์ราวกับกษัตริย์[17] ประชาชนมีความรู้สึกร่วมกันว่าอยากให้พระองค์เป็นผู้นำชาวยิวให้เป็นอิสระจากโรมัน แต่พวกผู้นำชาวยิวที่เคยถูกพระเยซูคริสตเจ้าตำหนิกลับกลัวว่าพระองค์จะเป็นกษัตริย์จริง ๆ แล้วตัวเองจะเดือนร้อน จึงประชุมกันลงมติให้รีบกำจัดพระองค์ สาวกคนหนึ่งของพระเยซูคริสตเจ้า (ยูดาส) ถูกใช้เป็นเครื่องมือ

2) อาหารค่ำมื้อสุดท้าย

เย็นวันก่อนฉลองปัสกา พระเยซูคริสตเจ้าทรงทานเลี้ยงกับสาวกตามประเพณี คือ การทานอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อแกะและขนมปังไม่มีเชื้อ ระหว่างการทานอาหารค่ำนี้เอง พระเยซูคริสตเจ้าทรงทำให้ความหมายของการเลี้ยงปัสกาของชาวยิวสมบูรณ์ ด้วยการมอบตัวของพระองค์เองเป็นพินัยกรรมในรูปขนมปังและเหล้าองุ่น ในฐานะเป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์ “ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง.. ตรัสว่า จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา.. แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย (เหล้าองุ่น) ตรัสขอบพระคุณ.. ตรัสว่านี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก” (มก 14: 22 – 25) อันหมายถึงว่าพระองค์เองทรงเป็นเครื่องบูชา ไม่ใช่ลูกแกะ ไม่ใช่ขนมปังและเหล้าองุ่นธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็นพระกายและพระโลหิตของพระองค์เอง

จากนั้นทรงล้างเท้าสาวก เพื่อสอนว่า “ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้ากันและกัน เราได้วางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้กระทำเหมือนกับที่เราได้กระทำกับท่าน” (ยน 13: 14 – 15)

3) การถูกจับกุมและรับทรมาน

หลังอาหารค่ำ พระเยซูคริสตเจ้าไปสวดภาวนาที่สวนแห่งหนึ่งชื่อเกทเสเมนีย์ สาวกคนหนึ่งของพระองค์ (ยูดาส) ได้พาชาวยิวมาจับกุมพระองค์ ขึ้นศาล ทรงถูกไตร่สวนจากผู้นำศาสนาและข้าหลวงชาวโรมัน ถูกโบยตี ถูกสวมมงกุฎหนาม ถูกสบประมาท ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า อ้างตนเป็นพระแมสสิอาห์ การเป็นประกาศกปลอม การจงใจละเมิดวันพระเจ้าและศาสนาตามประเพณี นอกนั้นก็คงเป็นความวุ่นวายทางสังคมที่เกิดขึ้นเนื่องจากคำสอนของพระองค์ ข้าหลวงโรมันไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับคดีนี้จึงปล่อยให้ชาวยิวตัดสินใจเอง ซึ่งได้ตัดสินประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน ตามคำพยากรณ์เกี่ยวกับมรณกรรมของพระแมสสิอาห์ที่มีพูดถึงในพันธสัญญาเดิม

4) การตรึงกางเขนและสิ้นพระชนม์

หลังจากได้รับอนุมัติจากข้าหลวงโรมันให้ประหารชีวิต พระเยซูทรงแบกกางเขนที่จะตรึงพระองค์ไปสู่ที่ประหารนอกกรุงเยรูซาเล็ม (บริเวณเนินเขาเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า “เนินหัวกระโหลก”) พร้อมกับนักโทษอีกสองคน ที่สุดราวบ่ายสามโมง พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ จากนั้นบรรดาศิษย์ได้นำพระศพไปฝังในพระคูหา[18] เนื่องจากวันรุ่งขึ้นเป็นวันฉลองใหญ่ จึงไม่เก็บพระศพไว้

5) การกลับคืนพระชนมชีพ การเสด็จสู่สวรรค์และจะเสด็จกลับมาอีก

เช้าตรู่วันอาทิตย์ พระคัมภีร์ (พระวรสาร) เล่าถึงการฟื้นคืนพระชนมชีพ “อย่ากลัวไปเลย ท่านกำลังมองหาพระเยซู ชาวนาซาเร็ท ผู้ถูกตรึงกางเขน พระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพแล้ว” (มก 16: 6) นี่เองเป็น “ข่าวดี” ที่สาวกประกาศสอน ถือเป็นหัวใจของ “ภารกิจการไถ่บาป” การเอาชนะความตาย (การเป็นทาสความตาย) ของพระเยซูคริสตเจ้าและทรงช่วยให้มนุษยชาติเอาชนะความตายด้วยเช่นกัน (การบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า) พระองค์ทรงปรากฏให้สาวกเห็น ทำให้สาวกเชื่อในสิ่งที่พระองค์ตรัสไว้ในขณะที่ยังมีพระชนม์อยู่ จากนั้นทรงเสด็จสู่สวรรค์และทรงสัญญาว่าจะเสด็จมาอีกครั้ง ที่เรียกว่า “วาระสุดท้ายของโลก” นั่นเอง

ในระหว่างช่วงเวลาการเสด็จมาครั้งที่สองของพระเยซูคริสตเจ้า พระองค์สั่งสาวกให้ออกไปเทศน์สอนเกี่ยวกับข่าวดีแห่งความรอดพ้นพ้น ดังพระดำรัสที่ว่า “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และแผ่นดินให้แก่เรา เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต จงสอนให้เขาปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน จงทราบเถิดว่าเราจะอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28: 18 – 20)

2. จากเยรูซาเล็ม สู่ โรม

2.1 ประชาคมแรกที่กรุงเยรูซาเล็ม : ความสำนึกถึงการประทับอยู่ของพระเยซูคริสตเจ้า

การเล่าเรื่องเหตุการณ์หลังจากที่พระเยซูได้สิ้นพระชนม์ กลับคืนชีพและเสด็จสู่สวรรค์แล้ว มีในพันธสัญญาใหม่ ในหนังสือชื่อ “กิจการอัครสาวก” (The Acts of the Apostles)[19] เล่าถึงรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับชาวคริสต์กลุ่มแรกและการเผยแผ่ศาสนาในยุคเริ่มต้น ซึ่งพอสรุปเหตุการณ์ได้ว่า

2.1.1 การรวมกลุ่มของสาวก

พระเยซูคริสตเจ้าไม่ได้ริเริ่มขบวนการเหมือนขบวนการทางการเมืองและศาสนาในสมัยนั้นๆ แต่ความประทับใจในพระเยซูคริสตเจ้าเป็นแรงจูงใจให้ศิษย์ของพระองค์รวมตัวกัน แบ่งปันความประทับใจในพระเยซูคริสตเจ้า ในระยะเริ่มแรกไม่มีประมวลคำสอน ไม่มีประมวลข้อความเชื่อ ไม่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นทางการ การรวมตัวกันของสานุศิษย์ค่อยๆ พัฒนาเป็นขบวนการโดยมีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นแรงบันดาลใจ โดยมีความสำนึกร่วมกันว่า พระเยซูยังคงเป็นผู้นำและเป็นแรงบันดาลใจต่อไป พวกศิษย์ทั้งหลายต่างรู้สึกว่าไม่มีใครมาแทนพระเยซูได้ ขบวนการนี้ยังคงดำเนินอยู่ เพราะพระเยซูประทับอยู่ในแบบใดแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

1) ประชาคมกลุ่มแรกเป็นสาวกของพระเยซูคริสตเจ้า[20] พร้อมกับบรรดาสตรีใจศรัทธาและมารีย์ พระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้าและพี่น้องของพระองค์

2) มีการอยู่ร่วมกันในลักษณะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ยังไม่มีรูปแบบทางการของกลุ่ม แต่มีจุดรวมใจอยู่จุดเดียวคือ พระเยซูคริสตเจ้า

3) แต่ละคนต่างมีประสบการณ์โดยตรงในการดำเนินชีวิตร่วมกับพระเยซู เป็นพยานรู้เห็นชีวประวัติรวมทั้งการสิ้นพระชนม์ การกลับคืนชีพของพระเยซู จึงมีการแบ่งปันประสบการณ์นั้นแก่กันและกัน

4) ทุกคนต่างรู้สึกว่าพระเยซูประทับอยู่ในขบวนการนี้ในแบบใดแบบหนึ่ง โดยเฉพาะการได้รับจิตของพระเยซู นั่นคือ จิตของพระเจ้า ที่ช่วยชี้นำชีวิตของตน พระเยซูยังคงอยู่และมีบทบาทโดยทางจิต (คริสตชนไทยเรียกว่า “พระจิต” หรือ “พระวิญญาณบริสุทธิ์”)

5) ที่สุด ด้วยความเชื่อมั่นว่าเป็นคำสั่งของพระเยซูประกอบกับที่แต่ละคนได้รับ “จิตของพระเยซู” (จิตของพระเจ้า” ทำให้พวกท่านออกไปประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้นในพระเยซูคริสตเจ้า

2.1.2 การเริ่มต้นประกาศข่าวดีของสาวก ที่กรุงเยรูซาเล็ม : การเพิ่มจำนวนสมาชิก

หลังจากที่สาวกสำนึกตนเองได้รับจิตของพระเยซูคริสตเจ้า (จิตของพระเจ้า-พระจิตเจ้า) ภายใต้การนำของนักบุญเปโตร (กจ 2: 14) ได้ประกาศต่อหน้าชาวยิวที่มาชุมนุมกันโอกาสวันสมโภชเปนเตกอสเต[21] ว่าพระเยซู เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา (พระแมสซีอาห์) ถูกประหาร แต่บัดนี้ได้กลับคืนชีพ การประกาศของเปโตรทำให้ชาวยิวหลายคนสนใจ ได้ร่วมขอรับพิธีล้างบาป (ตามที่พระเยซูคริสตเจ้าสั่ง) จำนวนถึงสามพันคน (กจ 2: 41) และค่อยๆ ทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ บุคคลเหล่านี้ได้เข้าร่วมกลุ่มกับประชาคมกลุ่มแรก (กลุ่มสาวกชุดแรกของพระเยซูคริสตเจ้า) โดยมีลักษณะที่สำคัญดังนี้

1) เป็นชาวยิว นับถือศาสนายิว ใช้ภาษาอาราเมอิค (ภาษายอดฮิตในตะวันออกกลางในสมัยนั้น) ดำเนินชีวิตแบบยิวที่มีความศรัทธา ผ่านการเข้าพิธีสุหนัต ไปสวดในพระวิหาร และปฏิบัติตามธรรมเนียมยิวอย่างเคร่งครัด

2) พวกเขาเป็นเหมือนกับ “นิกายใหม่” ของศาสนายิว โดยผู้เข้าร่วมนิกายใหม่นี้ต้องรับพิธีล้างบาปในนามพระเยซู และหมั่นเพียรในการฟังคำสั่งสอนของอัครสาวกที่เป็นพยานถึงการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า ได้ร่วมพิธีบิปัง (พินัยกรรมที่พระเยซูคริสตเจ้ามอบให้ระหว่างอาหารค่ำมื้อสุดท้าย) ในบ้านของผู้เลื่อมใสบางคน (เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ทำในพระวิหาร) โดย

2.1) มีการดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะ กล่าวคือ ดำเนินชีวิตร่วมกันและมีทุกสิ่งเป็นของกลาง

2.2) มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันฉันพี่น้อง ด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งความรักของพระเยซูคริสตเจ้า โดยมีอัครสาวกเป็นผู้นำ

3) ไม่ขึ้นกับผู้นำศาสนายิว แต่เชื่อในคำสอนของพระเยซูผ่านทางอัครสาวก เพราะเชื่อว่าพระเยซูได้เสด็จมาทำให้ประเพณีดั้งเดิมและความเชื่อในศาสนายิวสมบูรณ์ พระองค์เป็นพระแมสซีอาห์ที่พวกเขารอคอย

4) ผลที่ตามมาคือ การถูกเบียดเบียน ถูกทรมานและถูกสั่งให้หยุดประกาศสอนเรื่องของพระเยซู โดยผู้นำศาสนายิว แต่กระนั้น พวกเขายังคงไม่หยุดยั้งที่จะขยายขบวนการนี้ต่อไป ที่สุด มีการเบียดเบียนรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตคนที่เชื่อในพระเยซู[22]

2.2 การขยายตัวที่ไม่จำกัดเฉพาะในเขตกรุงเยรูซาเล็ม

การขยายตัวของผู้เลื่อมใสในพระเยซู ได้แผ่วงกว้างออกไปในหมู่ผู้นับถือศาสนายิว และเนื่องจากผู้นับถือศาสนายิวในสมัยนั้นแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ ชาวยิวที่ใช้ภาษาอาราเมอิค กับชาวยิวที่ใช้ภาษากรีก (วัฒนธรรมกรีก) ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีวัฒนธรรมของตน จนเป็นที่มาของความขัดแย้งกันในสองกลุ่มดังกล่าว ระหว่างชาวยิวคริสตชนที่ใช้ภาษาอาราเมอิค กับชาวยิวคริสตชนที่ใช้ภาษากรีก จึงมีการตกลงกันว่า อัครสาวกทั้งสิบสองจะรับผิดชอบชาวยิวที่ใช้ภาษาอาราเมอิค และพวกท่านได้เลือกกลุ่มชายเจ็ดคน ให้รับผิดชอบกลุ่มที่ใช้ภาษากรีก (กจ 6) ซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายอยู่นอกเขตเยรูซาเล็มและนอกเขตดินแดนปาเลสไตน์

2.2.1 ไม่จำเป็นต้องเป็นยิว เพื่อจะเป็นศิษย์ของพระเยซู

ต่อมา ชาวยิว (ที่ไม่ได้นับถือพระเยซู) เกรงว่าศาสนายิวจะถูกกลืนด้วยวัฒนธรรมกรีก จึงทำการเบียดเบียน ผู้เลื่อมใสในพระเยซูสายกรีกจึงถูกเบียดเบียนอย่างหนัก จนต้องหนีจากเยรูซาเล็มและไปรวมตัวกันตามที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่เมือง “อันติโอก” ที่นี่เองพวกเขาได้ชื่อว่า “คริสตชน” (กจ 11: 27) อันเป็นชื่อที่แยกพวกเขาออกจากลุ่มศาสนาอื่นๆ เมืองอันติโอกเป็นจุดเริ่มการเผยแผ่คริสต์ศาสนาไปสู่คนนอกศาสนายิว ภายใต้การรับรองของเปโตร ซึ่งได้เรียกประชุมในหมู่คริสตชนเกี่ยวกับการเผยแผ่คริสต์ศาสนา ที่สุด เปโตรได้ประกาศว่าคนต่างชาติ (ยิว) ต่างศาสนา (ยิว) ต่างก็มีสิทธิรับ “ข่าวดี” อย่างเท่าเทียมกับชาวยิว เพราะพระเยซูคริสตเจ้าเสด็จมาเพื่อมนุษย์ทุกคน ไม่จำกัดวงเฉพาะชาวยิวและไม่จำเป็นต้องถือตามจารีตประเพณียิว จุดนี้เองทำให้คริสตชนไม่ผูกมัดตนเองกับจารีตประเพณียิวอีกต่อไป

2..2.2 การขยายวงกว้างออกไปอาศัยเปาโล

ในพันธสัญญาใหม่ นอกจากอัครสาวกทั้งสิบสองแล้ว ยังปรากฏชื่อบุคคลท่านหนึ่ง ที่ถูกจัดให้อยู่ระดับเดียวกับอัครสาวกทั้งสิบสอง บุคคลนั้นคือ “เปาโล” ซึ่งได้รับฉายาว่า “อัครสาวกของคนต่างศาสนายิว”

ซาอูล (Saul) เซาโล (Saulo) หรือเปาโล (Paul) เกิดราวปี ค.ศ. 10 ที่เมืองทาร์ซัส (Tarsus) ในแคว้นซีลีเซีย (Cilicia) ซึ่งเป็นเมืองในประเทศกรีกโบราณ (Ancient Greece) เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมเฮลเลนิสต์ (Hellenists)[23] บิดามารดาของท่านเป็นชาวยิวที่อาศัยในเมืองนั้น ถือศาสนายิว อย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันบิดาของท่านก็มีสัญชาติโรมัน ทำให้เปาโลได้รับสัญชาติโรมันโดยกำเนิด ได้รับการศึกษาอย่างดี พูดได้สามภาษา คือ ภาษากรีก (Greek) ภาษาอารามาอิก (Aramaic) และภาษาฮีบรู (Hebrew) ทำให้ท่านอ่านพระคัมภีร์ต้นฉบับได้ ท่านได้รับการศึกษาอบรมในกรอบประเพณียิวอย่างเคร่งครัด โดยเข้ารับการศึกษาที่กรุงเยรูซาเล็ม ในสำนักของท่านกามาลีเอล[24] ซึ่งเป็นอาจารย์มีชื่อที่สุดในสมัยนั้น ในช่วงเริ่มต้นของคริสต์ศาสนา เปาโลผู้เคร่งครัดในศาสนายิวเป็นผู้หนึ่งที่ต่อต้านและพยายามกำจัดผู้ศรัทธาในศาสนาใหม่นี้ ต่อมาได้เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนาเพราะเกิดมีความศรัทธาในพระเยซูคริสตเจ้า (ราว ค.ศ. 36) ระหว่าง ค.ศ. 36–66 ได้เดินทางไปเผยแพร่ข่าวดีของพระเยซูตามที่ต่าง ๆ เช่น อันติโอก ฟิลิปปี โครินทร์ โรม ฯลฯ ขณะเดียวกันท่านได้เขียนจดหมายถ่ายทอดแนวคิดของท่านไปยังกลุ่มคริสตชนต่าง ๆ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตีความหมายคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้าให้ตรงจุดสนใจของสังคมในสมัยของท่าน ซึ่งในสมัยนั้นมีความคิดทางปรัชญาและศาสนาแบบชาวบ้าน โดยลัทธิปรัชญาที่มีผู้นิยมและรู้จักมากที่สุดก็คือลัทธิสโตอิค[25] (Stoicism) ที่เน้นจริยศาตร์เพื่อการหลุดพ้น โดยเสนอตัวในรูปของรหัสยลัทธิ (Mystery religion) ซึ่งให้ประกันแก่ผู้เป็นสมาชิกว่าจะช่วยให้หลุดพ้นอำนาจชั่วที่ทุกคนหวาดกลัว และทำให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงและรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติหรือความจริงโดยการปฏิบัติตามจารีตพิธีของลัทธิ เปาโลในฐานะผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนา จึงพยายามประสานคริสต์ศาสนากับแนวคิดและความเชื่อที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น โดยยืนยันว่ามีอำนาจมืดที่คุกคามจิตใจมนุษย์อยู่จริง แต่มนุษย์มีความหวังในพระคริสตเจ้าที่สามารถเอาชนะอำนาจมืดเหล่านั้นได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้คริสต์ศาสนายังมีพิธีการทางศาสนาคล้ายกันกับ “รหัสยลัทธิ” และเสนอแนวชีวิตใหม่ใน “หลักการแห่งเสรีภาพ” จุดนี้เองทำให้คริสต์ศาสนาเข้ากับอุดมการณ์ของลัทธิสโตอิค นั่นคือ การที่คริสต์ศาสนาให้ประกันว่าพระเจ้าจะทรงช่วยเหลือให้มนุษย์บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิตของตนได้ คริสตชนยุคแรกจึงยกย่องนักบุญเปาโล โดยให้ฉายาท่านว่า “อัครสาวกผู้เชี่ยวชาญการสอนคนต่างศาสนายิว” อย่างไรก็ตาม ราวปี ค.ศ. 67 ในสมัยจักรพรรดิเนโร ผู้ซึ่งเบียดเบียดคริสต์ศาสนาเป็นอย่างมาก ท่านจึงถูกตัดศีรษะที่กรุงโรม

2.2.3 กลุ่มคริสตชนอื่นๆ การจัดองค์กรและการเผยแผ่ความเชื่อ

นอกจากที่เยรูซาเล็มและอันติโอก ยังมีกลุ่มคริสตชนอื่น ๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป เช่น เมืองโครินธ์ เอเฟซัส ฟิลิปปี โคโลสี เธสะโลนิกา กาลาเทีย มาซิโดเนียและที่กรุงโรม นครหลวงของจักรวรรดิ์โรมัน (ธีรพล กอบวิทยากุล, 2006)

1) การจัดระบบองค์กร

ในแต่ละกลุ่มคริสตชนมีการจัดระบบการบริหารปกครองที่มีระบบไม่เหมือนกัน ขึ้นกับความเป็นมาของกลุ่มเริ่มแรก เช่น ที่กรุงเยรูซาเล็ม มีการแต่งตั้งคณะผู้อาวุโส (A college of elders) เป็นผู้นำ นอกจากนั้นบรรดาอัครสาวกจะตั้งกลุ่มคริสตชนท้องถิ่นและแต่งตั้งผู้รับผิดชอบเป็นหัวหน้ากลุ่ม เช่น ผู้ดูแลหรือผู้อาวุโส (Presbyters) และสังฆานุกร (Deacon) ทำหน้าที่เป็นศาสนบริกรในการเทศนาสั่งสอน[26] โปรดพิธีศีลล้างบาป[27] เป็นประธานในพิธีบิปัง[28] ศาสนบริกรได้รับการแต่งตั้งโดยการปกมือพร้อมทั้งการภาวนาและการบำเพ็ญตน อดอาหาร (กจ 6: 6, 13: 3)

2) การเริ่มต้นประกาศความเชื่อคริสตชน

การถูกชาวยิวเบียดเบียนโดยเฉพาะที่เมืองอันติโอก ทำให้คริสตชนกระจัดกระจายไปที่ต่างๆ และเป็นโอกาสให้คริสตชนได้เผยแผ่ความเชื่อในดินแดนที่ตนเข้าไปอาศัยอยู่ ยิ่งกว่านั้น ในราว ปี ค.ศ. 70 กรุงเยรูซาเล็มถูกทำลายอย่างราบคาบ[29] เนื่องจากพวกยิวก่อกบฏต่อโรมัน ทำให้โรมันปราบอย่างไร้ปราณี ทำลายเมืองและพระวิหาร มีผลทำให้คริสตชนห่างเหินจากอิทธิพลของศาสนายิว อย่างสิ้นเชิง

ในเอกสารนอกสารบบพระคัมภีร์[30] มีบันทึกเกี่ยวกับการแบ่งเขตการประกาศความเชื่อคริสตชนของบรรดาอัครสาวก เช่น โทมัสได้รับมอบหมายไปในดินแดนของชาวปาร์เธียน มัทธิวไปเอธิโอเปีย บาร์โธโลมิวไปอินเดีย ฯลฯ ดูเหมือนว่าเปโตรไปเทศน์สอนในหมู่ชาวยิวที่กระจัดกระจายในที่ต่างๆ ที่สุดเดินทางมาที่กรุงโรม ท่านก็ถูกตรึงกางเขนเอาศีรษะลงพื้น[31]

3) การรวบรวมวรรณกรรมสำหรับคริสตชน

ราวปลายศตวรรษที่หนึ่ง เป็นช่วงเวลาของการรวบรวมวรรณกรรมคริสตชน ซึ่งกลายเป็นพันธสัญญาใหม่ในภายหลัง มีการรวบรวมจดหมายของอัครสาวกและนักบุญเปาโล พระวรสารทั้งสี่กำลังมีรูปแบบที่แน่นอน แต่ต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อให้กลุ่มคริสตชนในท้องถิ่นต่าง ๆ เห็นพ้องกับหนังสือดังกล่าวว่าเป็นหลักแห่งความเชื่อ ในช่วงนี้คริสต์ศาสนาได้หันไปสู่โลกตะวันตกและได้ใช้ระบบโครงสร้างเหมือนกับของจักรวรรดิโรมัน

2.3 กรุงโรม นครหลวงของจักรวรรดิโรมัน ในฐานะเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนา

ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีการเผยแผ่คริสต์ศาสนามายังกรุงโรมตั้งแต่เมื่อไหร่ ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่โรม หลักฐานจากจดหมายของนักบุญเปาโล (ราว ค.ศ. 57) แสดงให้เห็นว่าที่กรุงโรม มีกลุ่มคริสตชนที่สำคัญเกิดขึ้นแล้วและมีอยู่ก่อนนานมาแล้วอีกด้วย มีเอกสารโบราณซึ่งนักเขียนชาวโรมันได้บันทึกเอาไว้[32] เกี่ยวกับการยืนหยัดในความเชื่อของคริสตชน แม้จะถูกเบียดเบียน ถูกทรมาน ถูกประหารด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ยิ่งกลับทำให้คริสตชนทวีจำนวนมากขึ้นในกรุงโรมและขยายสู่เมืองอื่น ๆ ในจักรวรรดิ์โรมันด้วย ไม่เป็นที่น่าสงสัยว่านักบุญเปาโลได้ไปกรุงโรม ตามที่มีบันทึกในหนังสือกิจการอัครสาวก แต่หลายคนก็สงสัยว่านักบุญเปโตรไปที่กรุงโรมจริงหรือไม่ ทั้งนี้เพราะการที่กรุงโรมได้กลายเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักร (คาทอลิก) เหตุผลที่สำคัญก็เพราะว่า นักบุญเปโตรได้ไปที่นั่นและผู้สืบทอดตำแหน่งต่อมาได้ถือเอาโรมเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนา (ธีรพล กอบวิทยากุล, 2006)

2.3.1 นักบุญเปโตรและเปาโล ที่กรุงโรม

ในตำนาน[33]และเอกสารโบราณ[34]ได้เล่าเรื่องความเกี่ยวข้องของนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโล กับกลุ่มคริสตชนที่กรุงโรม ในฐานะที่ท่านทั้งสองเป็นเสาหลักและรากฐานของกลุ่มคริสตชนที่กรุงโรม กล่าวกันว่ากรุงโรมเป็นที่ที่ท่านทั้งสองถูกฆ่าตายเพราะการประกาศศาสนา ในช่วงที่จักรพรรดิ์เนโรเบียดเบียนคริสต์ศาสนาอย่างรุนแรง ในราวปี ค.ศ. 63 – 67 และกรุงโรมเป็นที่เก็บรักษาหลุมฝังศพของท่านทั้งสองเอาไว้

1) นักบุญเปโตรมากรุงโรม

นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันได้ทำการศึกษา และมีหลักฐานสมเหตุสมผลเพียงพอที่จะบอกได้ว่านักบุญเปโตรมากรุงโรม และโรมเป็นที่ฝังศพของนักบุญเปโตร ด้วยการศึกษาบทความในพระคัมภีร์ตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด จากงานเขียนยุคแรกของคริสต์ศาสนา (เช่น งานเขียนของนักบุญเคลเมนต์แห่งกรุงโรม) จากหลักฐานในด้านพิธีกรรมและจากผลต่าง ๆ ของการขุดค้นด้านโบราณคดี เป็นต้น และที่สำคัญที่สุด คือ อนุสาวรีย์ที่ได้ขุดค้นพบใต้มหาวิหารนักบุญเปโตร ที่ยืนยันได้ว่าเป็นหลุมศพของท่าน

2) นักบุญเปาโลมากรุงโรม

จากหนังสือกิจการอัครสาวก (28: 16 – 31) ยืนยันได้ว่านักบุญเปาโลได้เดินทางมากรุงโรม และคาดว่าคงถูกประหารชีวิตราวปี ค.ศ. 63 และยิ่งกว่านั้น มีการขุดค้นในด้านโบราณคดีใต้วิหารนักบุญเปาโลที่อยู่นอกกำแพงกรุงโรม พบอนุสรณ์ที่เชื่อถือได้ว่าเป็นที่ฝังศพของท่าน

2.3.2 ทำไมคริสตชนที่โรมจึงถูกเบียดเบียน

เดิมทีเดียว ไม่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลโรมันกับคริสตชน เพราะชาวโรมันให้การผ่อนปรนในการนับถือศาสนา นอกจากนั้นชาวโรมันเข้าใจว่าคริสตชนเป็นเพียงกลุ่ม/นิกายหนึ่งของศาสนายิว แต่ในที่สุดก็มีปัญหาความขัดแย้งและนำไปสู่การเบียดเบียนเพราะคริสตชนประพฤติตนไม่เหมือนคนที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ที่สำคัญได้แก่ (ธีรพล กอบวิทยากุล, 2006)

1) คริสตชนปฏิเสธการกราบไหว้เทพเจ้าและการบูชาจักรพรรดิ์

จักรพรรดิโรมันได้ตั้งกฎให้มีการกราบไหว้เทพเจ้าและการบูชาพระรูปของจักรพรรดิ์ในที่ต่างๆ ในเขตจักรวรรดิ์โรมัน เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดเอกภาพในจักรวรรดิ์ แต่คริสตชนถือว่าตนเองนับถือพระเจ้าแท้มีแต่ผู้เดียว จึงไม่ไปกราบไหว้เทพเจ้าและไม่บูชาพระรูปของจักรพรรดิ์ ไม่ร่วมในพิธีกรรมที่จักรวรรดิ์กำหนดไว้ จึงเป็นเหตุให้ชาวโรมันคิดว่าคริสตชนเป็นพวก “กาลี” ทำให้เทพเจ้าพิโรธ เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นในโรม ก็ยกว่าเป็นความผิดของคริสตชนว่าเป็นพวกไม่เคารพบูชาเทพเจ้า

2) คริสตชนมีพฤติกรรมน่าสงสัย

ชาวโรมันตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพฤติกรรมของคริสตชนว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย คริสตชนชุมนุมกันในบ้านของบางคนที่มีฐานะดีเพื่อทำพิธีกรรมของตน ไม่ได้ทำในที่สาธารณะเช่นคนอื่นๆ ทำให้เป็นที่สงสัยว่ากำลังร่วมวางแผนก่อการอะไรสักอย่างที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของจักรวรรดิ์ และเนื่องจากคริสตชนมารวมตัวกันในเวลาค่ำ เขาคงกินเลี้ยงกันอย่างเมามาย ทำสิ่งชั่วร้ายเลวทราม อาจมีการล่วงประเวณีระหว่างญาติพี่น้องท้องเดียวกันก็ได้

3) คริสตชนกินเนื้อมนุษย์

มีการพูดกันปากต่อปากว่าคริสตชนร่วมพิธีกรรม มีการกินเนื้อและดื่มเลือดของเด็กที่พวกเขาได้ฆ่าเป็นบูชายันต์

ด้วยเหตุนี้ เมื่อกระแสข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วและผู้คนเริ่มเกลียดชังคริสตชน การเบียดเบียนก็เริ่มต้นขึ้น[35] การจำจอง การทรมานและการประหารในสนามกีฬา (โคลีเซี่ยมแห่งโรม) ด้วยวิธีการโหดร้ายก็ตามมา คริสตชนจำนวนมากถูกฆ่าตาย[36] แต่เดิมการเบียดเบียนคริสตชนจำกัดวงเฉพาะในกรุงโรมเท่านั้น (เพราะไม่มีรายงาน/เอกสารโบราณ ที่ระบุว่ามีการเบียดเบียนคริสตชนในที่อื่น ๆ) ต่อมาราวศตวรรษที่สาม จักรวรรดิโรมันเข้าสู่วิกฤติทางการเมืองและเศรษฐกิจ ขณะที่คริสตชนได้รวมตัวกันและพัฒนาเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง ยิ่งทำให้ฝ่ายปกครองจักรวรรดิ์เห็นว่าคริสตชนเป็นภัยต่อเสถียรภาพของรัฐอย่างแท้จริง จึงเริ่มเบียดเบียนครั้งใหญ่ทั่วจักรวรรดิ์ภายใต้การนำของจักรพรรดิ์ เดซิอุส (ราวปี ค.ศ. 249 – 251) โดยมีเป้าหมายที่จะกำจัดคริสตชนอย่างถอนรากถอนโคน การเบียดเบียนยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องจนถึงปลายศตวรรษที่สาม แต่กระนั้นการเบียดเบียนไม่สามารถสกัดกั้นการเติบโตของคริสตชนได้ นอกจากนั้นจักรวรรดิโรมันก็ประสบปัญหาต่าง ๆ มากขึ้นจึงมีการแบ่งจักรวรรดิโรมันออกเป็นสองส่วน คือ โรมันตะวันตกและตะวันออกในสมัยของจักรพรรดิดิโอเกลเซียน (ค.ศ. 284 – 305) แต่กระนั้นก็ไม่ได้ลดละการเบียดเบียนคริสตชน

2.3.3 การเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ

การแบ่งจักรวรรดิโรมันเป็นสองส่วน ทำให้มีการสู้รบแย่งชิงอำนาจกันเองระหว่างสองจักรวรรดิดังกล่าว จักรวรรดิ์โรมันตะวันออก โดยจักรพรรดิ์คอนสแตนติน (Constantine, ค.ศ. 280 - 337) ราชโอรสของจักรพรรดิ์คอนสตันซีอุส โคลรุสและพระนางเฮเลนา (Helena) พระมารดาซึ่งเป็นคริสตชน ได้ชัยชนะเหนือจักรพรรดิ์มักเซนซิอุส (Maxentius, ค.ศ. 278 - 312) แห่งจักวรรดิ์โรมันตะวันตก ในราวปี ค.ศ. 312 มีผลทำให้สงครามระหว่างสองจักรวรรดิจึงยุติ[37] ในปีต่อมา (ค.ศ. 313) จักรพรรดิ์คอนสแตนตินได้ออกกฤษฏีกาที่มิลาน ให้เสรีภาพแก่คริสตชน มีผลทำให้การเบียดเบียนสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงในปี ค.ศ. 324 และยิ่งกว่านั้นศาสนาคริสต์ได้รับการประกาศให้เป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมันนับตั้งแต่บัดนั้นจนถึงการแตกสลายของจักรวรรดิในเวลาต่อมา แต่กระนั้น ศาสนาคริสต์ได้พัฒนาเป็นองค์กรที่เข้มแข็งแล้ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม

3. จากโรมสู่ (วาติกันและ) นานาชาติ

จากเอกสารโบราณ[38]ทำให้ทราบว่า ตั้งแต่ราวปลายศตวรรษที่ 2 บรรดาคริสตชนสำนึกว่ามีคริสตชนอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในจักรวรรดิโรมัน (ตะวันตก-ตะวันออก[39]) จำนวนคริสตชนมีมากขึ้นทั้งในเมืองและตามชนบท และยิ่งกว่านั้น การได้รับการประกาศให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิโรมัน ในปี ค.ศ. 381 สมัยจักรพรรดิ์เทโอโดซิโอ (Theodosius, ค.ศ. 346 - 395) ยิ่งเป็นโอกาสให้คริสต์ศาสนาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วอาศัยการอำนวยความสะดวกและอิทธิพลของโรมัน คริสตชนสำนึกว่าตนเองเป็นชาวอิสราเอลใหม่ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาให้เป็นประชากรของพระเจ้า

3.1 ความสัมพันธ์ระหว่างจักรวรรดิ์โรมันและคริสตจักร

เมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการสนับสนุนไปทั่วจักรวรรดิ์ มีจักรพรรดิ์เป็นคริสตชน ทำให้ศาสนาคริสต์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองตามไปด้วย จึงต้องมีการจัดระบบคำสอนและแนวทางสำหรับการจัดระเบียบสังคม ความปรารถนาดีของจักรพรรดิทำให้ท่านเข้าไปช่วยจัดระบบคริสต์ศาสนา เช่น การเรียกประชุมสภาสังคายนา การแต่งตั้งผู้นำในศาสนา ฯลฯ ในเวลาเดียวกันผู้นำทางศาสนา (โดยเฉพาะหัวหน้ากลุ่มคริสตชนแห่งโรม[40] ในฐานะเป็นผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตร) ก็มีอำนาจในทางสังคมและการเมืองด้วย ในประวัติศาสตร์พบทั้งความร่วมมือกันระหว่างผู้นำของจักรวรรดิและศาสนจักร โดยเฉพาะเมื่อกรุงโรมถูกรุกรานพวกบาวาเรียน (ราวศตวรรษที่ 5 – 6) ผู้นำในศาสนาพยายามย้ำถึงความเป็นอิสระของศาสนาว่าไม่ขึ้นกับการเมือง แต่ทำได้เพียงหลักการ เพราะในความเป็นจริงเรื่องนี้มีแต่จะทวียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคกลาง (ราวศตวรรษแรกๆ – ศตวรรษที่ 15)

3.1.1 การเพิ่มทวีจำนวน (ปริมาณ) คริสตชน

การประกาศศาสนาคริสต์ภายใต้การอำนวยความสะดวกของจักรวรรดิโรมัน ส่งผลให้จำนวนคริสตชนแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว มีการส่งผู้สอนศาสนาไปประกาศสอนในดินแดนที่ห่างไกลในจักรวรรดิโรมัน ประกอบกับ “สิทธิพิเศษ” ที่คริสตชนได้รับในจักรวรรดิโรมัน ยิ่งมีผลทำให้คนในจักรวรรดิสมัครเข้าเป็นคริสตชนจำนวนมาก การที่มีผู้เข้าศาสนาคริสต์มากขึ้นไม่ได้หมายความว่าคริสตชนใหม่ได้เปลี่ยนความประพฤติให้ดีขึ้นเสมอไป (บางคนอาจเข้ามาเป็นคริสตชนเพื่อหวังผลประโยชน์) บรรดาผู้สอนศาสนาคริสต์ในสมัยนั้นต้องหนักใจในการพิจารณาเหตุผลและคัดสรรคนที่เข้าถือศาสนา เพราะเหตุว่าศาสนาคริสต์เป็นศาสนาทางการของจักรวรรดิโรมัน ทำให้มีหลายคนถือศาสนาคริสต์แต่เพียงในนามเท่านั้น

3.1.2 การพัฒนาด้านคุณภาพชีวิตคริสตชน

อย่างไรก็ตาม มีคริสตชนหลายคนได้สมัครเข้าเป็นคริสตชนด้วยความจริงใจ ด้วยตระหนักถึงคุณค่าคำสอนและวิถีชีวิตแบบคริสต์ บุคคลเหล่านี้ได้ใช้ความรู้ ความสามารถที่ตนมีช่วยจัดระบบคำสอนและวิถีชีวิตคริสตชนในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับคริสตชนต้องประสบการคุกคามด้านเอกภาพเป็นระยะ ๆ มีข้อพิพาทกันหลายสาเหตุ เช่น เรื่องจารีตพิธีกรรม การขัดแย้งระหว่างบุคคลที่เป็นผู้นำ และยิ่งกว่านั้น มีคำสอนแหวกแนวซึ่งก่อกลุ่มใหม่ ๆ ในคริสต์ศาสนา ที่พยามประยุกต์คำสอนคริสต์ศาสนาให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนจนถึงกับมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องหลักความเชื่อ เป็นต้น

1) หลักความเชื่อคริสตชนที่สืบเนื่องจากอัครสาวกและผู้สืบตำแหน่ง

ปลายศตวรรษที่ 2 มีความพยายามที่จะรวบรวมหลักความเชื่อคริสตชน โดยเน้นว่าคริสตชนต้องยึดถือธรรมประเพณีของอัครสาวกและธรรมประเพณีนี้ได้รับการถ่ายทอดในกลุ่มคริสตชนต่างๆ โดยผ่านทางบรรดาผู้นำกลุ่มคริสตชนและผู้อาวุโสของกลุ่มคริสตชนนั้น ๆ โดยเฉพาะในราวปลายศตวรรษที่ 2 นักบุญอีเรเนอุส (St.Irenaeus of Lyons ค.ศ.140 - 202) เอาใจใส่ที่จะบอกชื่อตามลำดับของบรรดามุขนายก[41] ผู้สืบตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มคริสตชนที่กรุงโรม ตั้งแต่ยุคนักบุญเปโตรและเปาโล รวมถึงผู้สืบตำแหน่งในกลุ่มคริสตชนที่อื่นๆ โดยย้ำถึงหลักความเชื่อที่เป็นหนึ่งเดียวกันที่สืบต่อเนื่องจากอัครสาวก ผ่านทางบรรดามุขนายกประจำกลุ่มคริสตชนต่าง ๆ และย้ำถึงความสำคัญของกลุ่มคริสตชนแห่งโรม (และมุขนายกแห่งโรม) ในฐานะที่เป็นกลุ่มคริสตชนที่นักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลได้สถาปนาขึ้น และย้ำความสำคัญของมุขนายกแห่งกลุ่มคริสตชนโรม ในฐานะเป็นผู้สืบตำแหน่งจากนักบุญเปโตร ดังนั้น หลักความเชื่อคริสตชนจึงมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม และเมื่อกลุ่มคริสตชนที่อื่น ๆ มีปัญหาเกี่ยวกับหลักความเชื่อ มุขนายกของกลุ่มคริสตชนอื่น ๆ จะเขียนจดหมายมาสอบถามจากมุขนายกแห่งโรม ในฐานะที่กลุ่มคริสตชนแห่งโรมเป็นกลุ่มคริสตชนหมายเลขหนึ่ง (พระศาสนจักรลำดับที่หนึ่ง) ของคริสต์ศาสนา

1.1) การจัดสารบบพระคัมภีร์คริสตชน

การจัดสารบบพระคัมภีร์คริสตชนเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 1 คริสตชนไม่ได้เน้นเฉพาะพระคัมภีร์ของตน (วรรณกรรมยุคพันธสัญญาใหม่) แต่พวกเขายึดพระคัมภีร์ของชาวยิวด้วย (ส่วนที่เรียกว่าพันธสัญญาเดิม) ถือว่าพระคัมภีร์เป็นหนังสือที่ได้รับการดลใจจากพระเจ้า แต่คริสตชนอ่านพระคัมภีร์ด้วยวิธีแตกต่างกับชาวยิว โดยถือว่าพระคัมภีร์มีศูนย์กลางอยู่ที่พระเยซูคริสตเจ้า เน้นศึกษาพระคัมภีร์เพื่อรู้จักพระเยซูคริสตเจ้ามากกว่าที่จะรู้จักประวัติศาสตร์ของชาวยิว มีการจัดประเภทเอกสารวรรณกรรมโดยยึดธรรมประเพณีของอัครสาวกเป็นหลัก และที่สุดปลายศตวรรษที่ 2 ได้กำหนดสารบบของพระคัมภีร์คริสตชนแล้วเสร็จ ทั้งภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่

1.2) กำเนิดและพัฒนาการของเทววิทยาคริสตชน

บรรดาผู้สอนและผู้นำคริสต์ศาสนาในสมัยนั้น (ในสมัยต่อมาเราเรียกพวกท่านว่า “ปิตาจารย์” (Fathers of the Church[42]) ซึ่งสืบตำแหน่งจากอัครสาวกต่อ ๆ กันมาได้พัฒนาหลักธรรมคำสอนและตอบโต้คำสอนที่ผิดต่างๆ บุคคลเหล่านี้ได้รับการยกย่องให้เป็นอาจารย์ หรือ บิดา เพราะเป็นผู้ให้กำเนิดแนวคิดที่สำคัญทางเทววิทยา อันเป็นพื้นฐานที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา พวกท่านพยายามอธิบายให้คริสตชนทราบว่าอะไรเป็นความเชื่อแท้ของคริสตชน ได้อธิบายพระคัมภีร์ ทำการเทศน์สอนในพิธีบูชาขอบพระคุณ (พิธีบิปัง)และการสอนความเชื่อสำหรับผู้เตรียมรับพิธีล้างบาป พวกท่านได้เขียนหนังสือไว้หลายเล่มที่เป็นพื้นฐานต่อการจัดระบบความเชื่อคริสตชนในยุคต่อ ๆ มา

2) กำเนิดและพัฒนาการของพิธีกรรม

ในศตวรรษแรกๆ โดยเฉพาะช่วงถูกเบียดเบียน คริสตชนประกอบพิธีกรรมในบ้านส่วนตัวหรือในคาตากอมป์[43] ต่อมาเมื่อได้รับอิสรภาพในการนับถือศาสนา และการประกาศให้คริสต์ศาสนาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิทำให้มีการสร้างสถานที่สำหรับการประกอบศาสนกิจ รวมทั้งเมื่อพัฒนาการทางเทววิทยาและหลักความเชื่อได้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น รูปแบบพิธีกรรมก็มีระบบและโครงสร้างชัดเจนมากขึ้นไปด้วย โดยเฉพาะพิธีรับเข้าเป็นคริสตชน (พิธีศีลล้างบาป) และพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ (พิธีบิปัง)

2.1) พิธีรับเข้าเป็นคริสตชน (พิธีศีลล้างบาป/Baptism) มีกำหนดให้รับพิธีล้างด้วยน้ำ พร้อมคำกล่าว “ข้าพเจ้าล้างท่าน เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต” มีลำดับพิธีการที่เป็นระบบ หลังจากนั้นผู้รับพิธีล้างจะร่วมในพิธีบิปัง และรับการปกมือจากผู้อาวุโส (มุขนายก) หมายความว่าเขาได้รับพระจิตเจ้า เป็นคริสตชนที่สมบูรณ์

2.2) พิธีบูชาขอบพระคุณ (Eucharist) เดิมเรียกว่าพิธีบิปัง ระลึกถึงการทานอาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซู ที่ทรงมอบพระกายและพระโลหิตของพระองค์เพื่อความรอดพ้นของมนุษยชาติ โดยค่อย ๆ มีการกำหนดรูปแบบและลำดับขั้นตอนตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 เป็นต้นมา

2.3) พิธีอภัยบาป (Penance) เป็นพิธีสำคัญอีกพิธีหนึ่งที่ต่อเนื่องจากพิธีล้างบาป ในฐานะเป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ โดยการสำนึกผิดและขออภัยโทษจากพระเจ้า มีการแสดงออกถึงการ “กลับใจ”[44] การทำกิจบางอย่าง เพื่อชดเชย ใช้โทษบาปหรือความผิดที่ตนกระทำ

นอกจากนั้น ยังมีธรรมเนียมการสวดทั้งส่วนตัวและร่วมกับคนอื่น มีบทภาวนาที่เป็นบทสูตรสำหรับสวดส่วนรวม รวมถึงการก่อตัวของบทข้าพเจ้าเชื่อ (Credo/Creeds) ที่แล้วเสร็จในสมัยสภาสังคายนาเมืองนีเชอา (ค.ศ. 325) มีการพัฒนาการดำเนินชีวิตจิตแบบคริสตชนอย่างลุ่มลึก (นักพรต-นักบวช) มีธรรมเนียมการอดอาหารเพื่อพลีกรรมใช้โทษบาป การเดินทางจาริกแสวงบุญในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ การพัฒนาศิลปะแบบคริสต์ในการสร้างสักการสถานต่าง ๆ เป็นต้น

3) อุดมการณ์คริสตชนปรับเปลี่ยนสังคม

วิถีการดำเนินชีวิตแบบคริสตชนได้แทรกซึมเข้าไปในสถาบันต่าง ๆ ของสังคม ทั้งการกำหนดปฏิทินการฉลอง กำหนดวันหยุดงาน กฎหมายครอบครัว มีการจัดตั้งสถาบันสงเคราะห์คนยากจน คนเจ็บป่วย เป็นต้น

3.1.3 สถาบันสันตะปาปา : การยืนยันความเป็นเอกของสำนักมุขนายกแห่งโรม

ก่อนศตวรรษที่ 6 เราไม่อาจพูดถึงสถาบันพระสันตะปาปาตามความหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก่อนหน้านั้นคำว่า “Pope” เป็นคำธรรมดาที่ใช้เรียกมุขนายกองค์ใดก็ได้ อันบ่งบอกความหมายของการเป็นบิดา อย่างไรก็ตามมุขนายกแห่งโรมมีสถานะพิเศษในกลุ่มคริสตชนทั้งหลาย อันเนื่องจากการที่อัครสาวกสำคัญสองท่าน คือ เปโตรและเปาโลดำรงอยู่ที่นั่น (คริสตชน โดยเฉพาะคาทอลิก เชื่อว่นักบุญเปโตรและเปาโลสิ้นชีวิตและฝังศพไว้ที่กรุงโรม)ในประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคแรก กลุ่มคริสตชนทั้งหลายยอมรับสถานะพิเศษดังกล่าวนี้ จะเห็นได้จากมุขนายกแห่งโรมเข้ามาแทรกแซงในชีวิตของกลุ่มคริสตชนที่อื่น เช่น ใน ค.ศ. 96 มุขนายกแห่งโรม (เคลเมนต์) ได้ส่งสารเตือนกลุ่มคริสตชนแห่งเมืองโครินทร์ หรือใน ราว ค.ศ. 190 มุขนายกแห่งโรม (วิกเตอร์) ได้ประกาศอับเปหิ[45]บรรดามุขนายกที่ไม่ยอมฉลองวันสมโภชปัสกาในวันเดียวกับที่กรุงโรม และยิ่งกว่านั้นพระศาสนจักรตะวันออกได้ยอมรับศักดิ์ศรี (The place of honour) ของพระศาสนจักรแห่งโรมเสมอ บางครั้งได้ยื่นเรื่องขอให้มุขนายกแห่งโรมตัดสินในกรณีที่มีปัญหายุ่งยาก

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความสำคัญด้านการเมืองของกรุงโรมค่อยๆ ลดบทบาทลง มีผลทำให้มุขนายกแห่งโรมคิดว่าอาจทำให้บทบาทการเป็นผู้นำศาสนจักรอาจถูกลดบทบาทลงด้วย ดังนั้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 เป็นต้นมา บรรดามุขนายกแห่งโรมได้อ้างถึง “ความเป็นเอก” (Primacy) ของตนที่ได้สืบทอดจากนักบุญเปโตร พวกท่านเรียกตำแหน่งนี้ว่า “สำนักของอัครสาวก” (Apostotic See) ที่สุดราว ค.ศ. 451 มีการจัดสภาสังคายนาที่เมืองคาลเซโดเนีย ได้ให้ความสำคัญต่อบทบาทด้านหลักความเชื่อของมุขนายกแห่งโรมโดยประกาศว่า “นักบุญเปโตรได้พูดผ่านทางท่านเลโอ” (ขณะนั้น มุขนายกแห่งโรมคือ ท่านเลโอ) เพื่อยืนยันความเป็นเอกในตำแหน่งของท่าน ในฐานะผู้สืบทอดตำแหน่งจากนักบุญเปโตร ส่วนมุขนายกอื่น ๆ ต่างมีส่วนร่วมในภารกิจด้านการอภิบาล แต่ไม่ได้มีอำนาจสมบูรณ์แบบเหมือนมุขนายกแห่งโรม นักบุญเลโอถือได้ว่าเป็นมุขนายกแห่งโรมที่เป็นมุขนายกแห่งมุขนายกทั้งหลาย[46]

3.2 ปัญหาเรื่องเอกภาพของคริสต์ศาสนา

3.2.1 กลุ่มคริสตชนบางแห่งได้แยกตัวออกจากพระศาสนจักรแห่งกรุงโรม

ผู้ปกครองของคริสต์ศาสนาได้พยายามจัดระบบเกี่ยวกับข้อความเชื่อ จารีตประเพณี พิธีกรรมและวิถีชีวิตคริสตชน แต่อย่าลืมว่า ความเชื่อคริสตชนไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีของตน มีความพยายามประสานและหลายแห่งได้ดัดแปลงความเชื่อคริสตชนให้เป็นความเชื่อเฉพาะในชุมชนของตน มีการสอนให้ดำเนินตามความเชื่อของตนและไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ “ส่วนกลาง” (กลุ่มคริสตชนแห่งโรม) ได้จัดระบบไว้ จึงมีการพิจารณาในรูปแบบของการจัดสภาสังคายนาสากลเพื่อตัดสินคำสอนที่ผิดจากความเชื่อที่กำหนดโดยส่วนกลาง (ซึ่งเชื่อว่าสืบทอดตามธรรมเนียมของอัครสาวก) มีผลทำให้มีการถกเถียงกันเรื่องข้อความเชื่อและมีการประกาศให้กลุ่มคริสตชนบางแห่ง (ที่ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธคำสอนจากส่วนกลาง) ให้ออกไปจากการสังกัดพระศาสนจักร

3.2.2. การย้ายนครหลวงของจักรวรรดิโรมันไปที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล : คริสตชนนิกายออร์โทดอกซ์

สืบเนื่องตั้งแต่สมัยจักรพรรดิคอนสแตนติน จักรวรรดิโรมันแผ่ขยายพื้นที่ออกไป ทำให้จักรพรรดิมีโครงการย้ายนครหลวงของจักรวรรดิไปยู่ในเมืองที่มีทำเลเหมาะสม เพื่อง่ายต่อการปกครองจักรวรรดิ จึงทำการย้ายนครหลวงของจักรวรรดิไปอยู่ที่ใหม่และให้ชื่อว่า “กรุงคอนสแตนติโนเปิล”[47] ถึงกระนั้น “โรม” ยังคงเป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนา ในขณะเดียวกันมีการแต่งตั้งมุขนายกแห่งนครคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งในเวลาต่อมา ผู้นำศาสนจักร (มุขนายก) แห่งคอนสแตนติโนเปิลค่อยๆ มีบทบาทมากขึ้น เป็นเหมือนผู้นำของศาสนจักรตะวันออกและดูเหมือนเป็นคู่แข่งของมุขนายกแห่งโรม[48] และค่อย ๆ มีผลต่อการแยกตัวออกจากโรม และประกาศตนว่าเป็น “พระศาสนจักรตะวันออก” หรือพระศาสนจักรนิกายออร์โทดอกซ์ (Orthodox) ที่แยกตัวเป็นอิสระจากมุขนายกแห่งโรม (พระสันตะปาปา) ในปี ค.ศ. 1054

3.3 การแตกสลายและการจัดระบบใหม่ของสังคมคริสต์ในยุคกลาง

การแบ่งจักรวรรดิโรมันเป็นสองส่วน (โรม/ ศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิ์โรมันตะวันออก และคอนสแตนติโนเปิล/ ศูนย์กลางแห่งโรมันตะวันตก) และการรุกรานจากพวกบาวาเรียนนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 375 ทำให้จักรวรรดิโรมันค่อย ๆ ล่มสลายไป ที่สุดพวกบาวาเรียนและชนพื้นเมืองได้ยึดจักรวรรดิโรมันได้

3.3.1 พวกบาวาเรียนและชนพื้นเมืองเข้าเป็นคริสตชน

ชนเผ่าบาวาเรียนซึ่งเข้ายึดจักรวรรดิโรมัน มีความนิยมชมชอบความเจริญของสังคมโรมัน รวมถึงการรับคริสต์ศาสนาให้เป็นศาสนาของตนด้วย ส่งผลให้ผู้นำคริสต์ศาสนามีอิทธิพลในสังคมไปด้วย มีการจัดระบบใหม่ทางสังคม

3.3.2 ความเป็นคริสตจักร (Christendom) : อาณาจักรกับศาสนจักร

ผู้นำทางการเมืองชุดใหม่ (ชนเผ่าบาวาเรียน) สำนึกถึงบทบาทหน้าที่ของตนในการเป็นคริสตชน ต้องช่วยทำนุบำรุงและประกาศศาสนา กษัตริย์มีบทบาทเป็น “ศาสนูปถัมภก” ถือว่าศาสนจักรในเขตแดนของตนขึ้นกับกษัตริย์ ไม่ใช่ขึ้นกับมุขนายกแห่งโรม ต่อมามีผู้นำที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งชื่อ “ชาร์เลอมาญ” (Char lemagne, ค.ศ. 768 – 814) ได้รวบรวมอาณาจักรเข้าด้วยกัน และทำให้ “พระศาสนจักรสากล” ได้ฟื้นฟูขึ้นมา จักรพรรดิ์ชาร์เลอมาญ ได้เดินไปกรุงโรมถึงสี่ครั้งเพื่อสานสัมพันธ์กับมุขนายกแห่งโรม พระสันตะปาปาเลโอที่ 3 (ค.ศ. 795 – 816) ได้สวมมงกุฎให้ชาร์ล เลอมังเป็น “The Holy Roman Emperor”

ในสมัยต่อมา บางช่วงผู้นำของศาสนจักร (พระสันตะปาปา) มีอำนาจมากกว่าผู้นำของอาณาจักร สลับกันไปมาจนที่สุดมีการแบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจนระหว่างอาณาจักรกับศาสนจักร ประกอบกับมีการแยกเป็นประเทศต่างๆ ส่งผลให้อาณาจักรถูกแบ่งแยกในขณะที่ศาสนจักรยังคงเป็นหนึ่งเดียวและสามารถเชื่อมโยงประเทศทั้งหลายเข้าด้วยกัน แต่กระนั้น จากประสบการณ์ในอดีต ทำให้ผู้นำศาสนจักรก็ไม่ค่อยไปก้าวก่ายกับงานของอาณาจักร ในขณะเดียวกัน ผู้นำทางอาณาจักร (ประเทศต่างๆ ) ก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานของศาสนจักร (การประกาศศาสนา)

3.3.3 วิถีชีวิตทางศาสนา : การฟื้นฟูชีวิตในคริสต์ศาสนา

ประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ย่อมมีทั้งส่วนที่น่าชื่นชมและขมขื่น อย่าลืมว่าการที่ชนเผ่าต่างๆ เข้ามาเป็นคริสตชน บางคนเข้ามาเพื่อต้องการผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ การปฏิบัติศาสนกิจของบางคนจึงเน้นผลประโยชน์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เลื่อมใสคริสต์ศาสนาอย่างจริงใจได้มีการก่อตั้งอารามเพื่อดำเนินชีวิตตามคุณค่าพระวรสารอย่างเข้มข้น เน้นการดำเนินชีวิตเรียบง่ายและยากจนตามแบบฉบับพระเยซู และได้รับการส่งเสริมให้แพร่หลายในหมู่คริสตชนทั่วไป

1) การกลับสู่วิถีชีวิตตามคุณค่าพระวรสาร : นักบุญดอมินิกและฟรังซิสอัสซีซี

การปฏิรูปวิถีชีวิตคริสตชนครั้งสำคัญเกิดขึ้นโดยมีผู้นำสำคัญสองท่าน คือ นักบุญดอมินิก (St. Dominic de Guzman ค.ศ.1171-1221) และนักบุญฟรังซิส อัสซีซี (St. Francis of Assisi ค.ศ. 1182-1226) ซึ่งได้ก่อตั้งคณะนักพรตที่ตัดสละชีวิตทางโลกเพื่อมุ่งสู่อาณาจักรของพระเจ้า ด้วยการดำเนินชีวิตสมถะยากจน เพื่อการเป็นศิษย์แท้จริงของพระคริสตเจ้า หลังจากได้รับอนุญาตจากมุขนายกแห่งโรม (สันตะปาปา) พวกท่านได้ก่อตั้งอารามและบำเพ็ญชีวิตคริสตชนอย่างเข้มข้น โดยการถือความยากจน ถือโสดและความเรียบง่าย ต่อมาค่อยพัฒนาเป็นสถาบัน (คณะนักบวช เช่น คณะฟรังซิสกันและคณะดอมินิกัน[49]) มีการจัดการศึกษาอย่างดี นักบุญฟรังซิสและนักบุญดอมินิกคือผู้ปฏิรูปวิถีชีวิตคริสตชน เป็นผู้นำในการสร้างขบวนการใหม่ให้กลับคืนสู่ชีวิตในอุดมคติของคริสต์ศาสนาภายใต้แนวทางของพระวรสาร รวมถึงการส่งเสริมการดำเนิน “ชีวิตจิต” แบบคริสต์

2) การส่งเสริมการอบรมศึกษา

บทบาทของนักพรต นักบวชและอารามต่าง ๆ ยังมีอีกมากโดยเฉพาะเรื่องการอบรมศึกษา ทั้งด้านศิลปวิทยาการต่าง ๆ ที่แสดงออกถึงประสบการณ์ชีวิตในศาสนา มีการประพันธ์บทเพลงที่ใช้ในพิธีกรรม รวมทั้งสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เพื่อเกื้อหนุนความเลื่อมใสศรัทธา รวมถึงการจัดตั้งสถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัย) เพื่อแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาความเจริญสู่สังคม ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปาและบรรดามุขนายกในที่ต่าง ๆ มีการศึกษาวิชาปรัชญาและศาสตร์แขนงต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ มีการศึกษาแนวคิดของปรัชญากรีกและนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่ออธิบายคำสอนในคริสต์ศาสนา (ที่เรียกว่าสำนัก Scholasticism) ซึ่งประกอบด้วยนักปรัชญาเด่น ๆ หลายท่าน ได้แก่ นักบุญโทมัส อาไควนัส (St. Thomas Aquinas, ค.ศ. 1225 – 1274)นักบุญบอนา เวนตูรา (St. Bonaventure, ค.ศ. 1221- 1274) ที่ได้พยายามอธิบายคำสอนคริสต์ศาสนา โดยใช้ปรัชญากรีก เป็นต้น

3.3.4 สงครามศักดิ์สิทธิ์

การกำเนิดของศาสนาอิสลามส่งผลให้ชาวอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลามได้แผ่ขยายอาณาเขต (เข้ายึดดินแดนของคนคริสต์) และเข้ายึดแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ คริสตชนจึงถือว่าชาวมุสลิมเป็นศัตรูสำคัญ เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามที่ยาวนานเพื่อได้แผ่นดินคืนมา (จนสิ้นสุดใน ค.ศ. 1492) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 คริสตชนทางตะวันตกได้จัดทำสงครามครูเสด (Crusades) เพื่อช่วงชิงสถานที่สำคัญที่พระเยซูเคยเจริญพระชนมชีพ แต่ในขณะเดียวกันมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างชาวมุสลิมกับชาวคริสต์ไปด้วย

3.4 ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง : กำเนิดคริสตชนโปรแตสเตนต์และการปฏิรูปศาสนา

จากการได้รับการอบรมศึกษาอย่างเป็นระบบ ส่งผลในช่วงปลายศตวรรษที่ 14 ในยุโรป ถือเป็นยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) มีความพยายามแสวงหาความจริงโดยไม่ต้องพึ่งพิงคำตอบจากศาสนา วิถีชีวิตมนุษย์ในด้านการบริหารและวิชาการได้รับการปลดปล่อยจากการผูกขาดของผู้นำศาสนาไปสู่ “คนทั่วไป” มีการพัฒนาด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย ตลอดจนการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม พร้อมกับพัฒนาการของศาสตร์ต่าง ๆ

3.4.1 สถานการณ์ของศาสนจักร

ในขณะที่มีอาณาจักรมีการแบ่งแยกเป็นเขตการปกครองอิสระ ปกครองโดยตระกูลต่าง ๆ ผู้นำกลุ่มคริสตชนหลายแห่งมีบทบาททั้งการปกครองเขตปกครองอิสระและปกครองกลุ่มคริสตชน ตำแหน่งสำคัญหลายอย่างฝ่ายบ้านเมืองอยู่ภายใต้ผู้นำศาสนา ส่งผลให้พระศาสนจักร “ร่ำรวย” ขึ้นอย่างมาก มีผลทำให้ผู้นำกลุ่มคริสตชนหลายท่านมุ่งบริหารทรัพย์สินมากกว่าการพัฒนาวิถีชีวิตคริสตชน อย่างไรก็ตามยังคงมีผู้ยึดมั่นและศรัทธา ได้พยายามปรับปรุงชีวิตพิธีกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ของศาสนา แม้ว่าจะเกิดการเผชิญหน้ากับอำนาจทั้งทางรัฐและศาสนามากขึ้น จนถึงขั้นที่ผู้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำศาสนาได้รับการเบียดเบียน[50]และแม้กระทั่งต้องถูกประหารชีวิต

3.4.2 การกลับคืนสู่รากเหง้า

อย่างไรก็ตาม ในวงการคริสต์ศาสนา มีผู้นำพระศาสนจักรหลายท่านยังคงพยายามที่จะฟื้นฟูชีวิตคริสตชน หลาย ๆ ท่านตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องกลับคืนสู่รากเหง้า โดยเน้นศึกษาพระคัมภีร์และธรรมประเพณีของพระศาสนจักรในยุคแรก ๆ อย่างจริงจัง เป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะฟื้นฟูชีวิตคริสตชน เริ่มมีแนวคิดที่จะให้ความสำคัญแก่มนุษย์และแยกแยะประเภทของศาสตร์เพื่อตอบปัญหาเกี่ยวกับความจริง ไม่ใช่เอาความจริงทางคริสต์ศาสนามาตอบปัญหาทุกเรื่อง

3.4.3 การปฏิรูปสู่การแยกตัวของคริสตชนโปรแตสแตนต์ (Protestant Reform)

จากการรวมอำนาจของศาสนจักรและอาณาจักรไว้ด้วยกัน การที่ผู้นำศาสนาไม่ได้ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีในการเป็นศาสนิกชน โดยเฉพาะการมุ่งสร้างความเจริญด้านวัตถุมากกว่าการพัฒนาชีวิตตามคุณค่าพระวรสาร ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของคริสตชนโดยรวมก็เสื่อมลงไปด้วย การตั้งกฎเกณฑ์ ระบบระเบียบมากมายไม่ได้ช่วยให้การดำเนินชีวิตคริสตชนพัฒนาขึ้น เนื่องจากระบบระเบียบต่าง ๆ หลายครั้งอิงกับฐานอำนาจและผลประโยชน์ของคนจำนวนมาก

1) มาร์ติน ลูเทอร์ (ค.ศ. 1483 – 1546)

เกิดและเติบโตที่เยอรมัน ได้เข้าสู่การเป็นนักพรตในสังกัดคณะออกัสติน ได้ศึกษาปรัชญาและเทววิทยาในสถาบันที่มีชื่อเสียงหลายแห่งในสมัยนั้น ท่านไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติของผู้นำศาสนาในสมัยนั้นที่เน้นผลประโยชน์ด้านวัตถุ นำพระพรของพระเจ้า โดยเฉพาะเรื่องการอภัยบาปอาศัย “พระคุณการุณ[51]” (Indulgence) ที่มีการซื้อขายกันได้[52] ท่านได้เสนอแนวทางปฏิบัติสู่วิถีชีวิตคริสตชนที่ควรจะเป็นและส่งเรื่องแก่ผู้นำพระศาสนจักร เป็นการประท้วง (Protest) วิถีปฏิบัติบางอย่างที่ผู้นำพระศาสนจักรกำหนด ส่งผลให้ท่านถูกขับออกจากพระศาสนจักร ส่งผลให้ท่านต้องลี้ภัยไปอาศัยในที่ต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย มีประชาชนจำนวนมากเห็นด้วยกับแนวคิดของลูเทอร์ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้แต่ละคนได้รู้จักพระเจ้าผ่านทางพระคัมภีร์[53] การร่วมพิธีกรรมและการสวดภาวนาของแต่ละคน เน้นการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย ขจัดความรกรุงรังของระบบระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงพระเจ้าในแต่ละคน รวมถึงการเน้นบทบาทของแต่ละคนในการเข้าถึงพระเจ้าโดยตรง ไม่ใช่ผ่านทางบรรดาผู้นำของศาสนา

2) อิทธิพลจากแนวคิดของลูเทอร์

แนวคิดของลูเทอร์แพร่ไปทั่วยุโรป ประกอบกับกระแสแนวคิดมนุษยนิยม[54] มีผลทำให้ผู้ที่เอือมระอาต่อพฤติกรรมบางอย่างของผู้นำศาสนจักรได้เริ่มต้นปฏิรูปวิถีชีวิตคริสตชนในประเทศของตน เช่น อูลริช สวิงลี (ค.ศ. 1484 – 1531) ในสวิสเซอร์แลนด์ ฌอง กัลแวง (ค.ศ. 1509 – 1564) ในฝรั่งเศส ฯลฯ ได้พัฒนาแนวคิดโดยส่งเสริมวิถีชีวิตคริสตชนแบบเรียบง่าย โดยเฉพาะเรื่องพิธีกรรม โดยเฉพาะพิธีบิปังที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคน รวมทั้งการส่งเสริมให้แต่ละคนได้ศึกษาพระคัมภีร์ เพื่อเข้าใจพระวาจาของพระเจ้าอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม มีการรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ในรูปแบบของ “สหพันธ์” และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองท้องถิ่นด้วย มีผลทำให้แยกตัวออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ (พัฒนาเป็นนิกายต่าง ๆ ของโปรแตสแตนต์ ในเวลาต่อมา)

3) การปฏิรูปศาสนาในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8

ความแตกแยกที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในยุคเดียวกันเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ไม่ใช่เรื่องของข้อความเชื่อ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง สืบเนื่องจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 (ค.ศ. 1491 – 1547) ประมุขของอังกฤษในสมัยนั้นมีความประสงค์จะหย่าจากมเหสี เนื่องจากไม่มีโอรสให้สืบบัลลังก์ จึงทำเรื่องขอพระสันตะปาปาเพื่อแต่งงานใหม่ พระสันตะปาปาไม่อนุญาต ส่งผลให้พระองค์ประกาศให้อังกฤษจึงแยกตัวเป็นอิสระด้านศาสนาจากโรม และพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 จึงทำการปฏิรูปศาสนาให้เข้ากับสถานการณ์ในประเทศของตน ทีแรกถือตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบเดิมทั้งหมด ต่อมาได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของพวกปฏิรูป (Protestant) จึงประสานกันระหว่างแนวคิดเดิม (คาทอลิก) กับพวกปฏิรูปไว้ด้วยกัน

3.4.4 ท่าทีของพระสันตะปาปาและการปฏิรูปสู่การเป็น “โรมันคาทอลิก”

การแยกตัวของคริสตชนในหลายพื้นที่เกิดขึ้นได้เพราะ “กรุงโรม” ได้เริ่มหมดอิทธิพลทางการเมืองลงไปแล้ว การเติบโตของกลุ่มที่พยายามพัฒนาวิถีชีวิตคริสตชนตามรูปแบบเฉพาะของตนในยุโรปหลาย ๆ ประเทศ และไม่ยอมขึ้นกับคำแนะนำจากผู้นำพระศาสนจักรในสมัยนั้น ส่งผลให้คริสตชนสับสนถึงความแตกแยกดังกล่าว รวมทั้งสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในสังคม ประกอบกับความสำนึกถึงความเสื่อมทรามของวิถีชีวิตคริสตชนในยุคนั้นที่ไม่ค่อยตรงกับแนวทางพระวรสารนัก ส่งผลให้ผู้นำพระศาสนจักรและคริสตชนหลาย ๆ ท่านมีความคิดที่จะฟื้นฟูชีวิตทางศาสนาเพื่อการทันยุคสมัย มีการดำเนินการอย่างเป็นขบวนการเปลี่ยนแปลงภายในเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อยนับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา พอสรุปได้ดังนี้

1) การส่งเสริมกิจกรรมเสริมความศรัทธา การกุศลและการภาวนา

นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 มีกลุ่มบุคคลที่ประกอบด้วยนักบวชและคริสตชนทั่วไป ได้รวมตัวกันส่งเสริมความเชื่อศรัทธาในศาสนาด้วยการปฏิบัติ อาศัยการลงมือช่วยเหลือคนยากจน ตั้งจิตตั้งใจเป็นหนึ่งเดียวกันในการสวดภาวนาเพื่อให้เกิดพลังในการปฏิบัติตนตามวิถีชีวิตคริสตชนอย่างแท้จริง

2) การฟื้นฟูชีวิตนักบวช

มีความพยายามฟื้นฟูชีวิตนักพรต นักบวชให้มีคุณภาพตามอุดมการณ์คริสตชนมากยิ่งขึ้น โดยลดบทบาทที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้านวัตถุสิ่งของ เน้นการดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัด สมถะ เรียบง่ายตามคุณค่าพระวรสาร (จิตตารมณ์ของพระเยซู) นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดคณะนักบวชหญิง (บรรดาซิสเตอร์ มาเซอร์ ภคินี) และนักบวชชาย (บราเดอร์ ภราดา) ที่รวมตัวกันเป็นหมู่คณะเพื่อดำเนินชีวิตคริสตชนแบบเข้มข้น และค่อย ๆ พัฒนาเป็นคณะนักบวชต่าง ๆ (หลังจากได้รับอนุญาตจากพระสันตะปาปา) ที่เน้นการบำเพ็ญภาวนาและการรับใช้สังคม ในรูปแบบของการให้การศึกษา การดูแลคนยากจน คนเจ็บป่วย เป็นต้น รวมถึงการจัดระบบการคัดสรรและอบรมบุคลากรสู่การเป็นศาสนบริกร

3) การบริหารงานของสันตะสำนัก

สถานการณ์ในสังคมเรียกร้องให้ผู้นำพระศาสนจักรจัดระบบ ระเบียบการบริหารปกครองของพระศาสนจักรให้ชัดเจนขึ้น เข้ากับยุคสมัย เพื่อความคล่องตัวและเข้ากับ “ภารกิจ” หน้าที่ของพระศาสนจักรอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการกำหนดบทบาทหน้าที่และการดำรงตำแหน่งของผู้นำพระศาสนจักรให้โปร่งใสและเป็นระบบยิ่งขึ้น

4) สภาสังคายนาเมืองเตร็นท์ (ค.ศ. 1545 – 1563)

ที่สุด ถึงเวลาที่พระศาสนจักรจะได้ทบทวนตนเองอย่างจริงจัง ในด้านความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติของชีวิตคริสตชนตามรูปแบบ “อัตลักษณ์” ของตน ผู้นำพระศาสนจักร (พระสันตะปาปา) ได้เรียกประชุมสภาสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ เพื่อพิจารณาข้อความเชื่อและธรรมเนียมปฏิบัติของชีวิตคริสตชน (ที่ยังอยู่ภายใต้การนำของพระสันตะปาปา) มีการจัดระบบความเชื่อและพิธีกรรมของพระศาสนจักรอย่างจริงจัง เพื่อยืนยันและยืนหยัดในความเป็นพระศาสนจักรสากลในฐานะเป็นพระศาสนจักรที่สืบเนื่องจากอัครสาวก อันเป็นการวางรากฐานสำคัญสู่การเป็น “พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก”

3.5 รัฐวาติกันและสภาสังคายนาวาติกัน

3.5.1 รัฐวาติกัน

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 อิตาลียังคงแบ่งแยกเป็นรัฐต่าง ๆ (มีผู้นำแต่ละรัฐ) โดยมีพระสันตะปาปายังคงมีอำนาจปกครองเหนือรัฐต่าง ๆ แต่ละรัฐพยายามหาทางรวมเป็นประเทศเดียว ที่สุดความปรารถนานั้นก็เริ่มเป็นจริง ในปี ค.ศ. 1861 “กรุงโรม” ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงของอิตาลี และถูกครอบครองอย่างเป็นทางการโดยกองทัพฝ่ายสถาปนาประเทศอิตาลี มีผลทำให้พระสันตะปาปาหมดอำนาจทางการเมืองและการปกครองกรุงโรม อย่างไรก็ดี พระองค์ยังทรงเป็นผู้นำทางศาสนาเหนือพระศาสนจักรทั้งหมด ซึ่งไม่จำกัดดินแดนทางภูมิศาสตร์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1929 พระสันตะปาปาปิอุสที่ 11[55] (Pope Pio XI)และผู้นำรัฐบาลอิตาลี ภายใต้การนำของมุสโสสินี (Benito Amilcare Andrea Mussolini, ค.ศ. 1883 - 1945) ได้ทำสนธิสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของพระศาสนจักรแห่งโรมกับรัฐบาลอิตาลี โดยยอมรับกฎหมายระหว่างชาติว่า “วาติกัน”[56] เป็นรัฐอิสระ มีพระสันตะปาปาเป็นประมุขของรัฐ โดยรัฐบาลอิตาลีจะไม่เข้าไปแทรกแซง ในขณะเดียวกัน พระสันตะปาปา ก็ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงการเมืองในอิตาลีด้วย

อย่างไรก็ดี พระสันตะปาปายังคงเป็นมุขนายกแห่งโรม เป็นประมุขสูงสุดของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก มีสิทธิในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศต่าง ๆ โดยทำหน้าที่ประสานงานทางด้านศาสนาระหว่างพระศาสนจักรในประเทศนั้น ๆ กับวาติกัน

3.5.2 สภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1962 – 1965)

1) ที่มาของการจัดสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2[57]

สืบเนื่องจากการพัฒนาความเจริญของสังคม ส่งเสริมให้มนุษย์กินดีอยู่ดี เน้นความสะดวกสบายด้านกายภาพเป็นหลัก อันเป็นผลจากความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ รวมทั้งแนวคิดทางปรัชญาวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ที่นำสู่ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมแบบมาร์กซ์ ที่ส่งเสริมและตีคุณค่ามนุษย์ด้วยวัตถุสิ่งของ ส่งเสริมให้มนุษย์ดำเนินชีวิตแบบตัวใครตัวมัน ใส่ใจชีวิตเพียงแค่ระดับความอยู่รอดด้านกายภาพ ประกอบกับแนวคิดที่เน้นบทบาทของเสรีภาพที่จะรู้จักคุณค่าและความหมายของชีวิต รวมถึงการเน้นความรับผิดชอบชีวิตของตน “ด้วยตัวเอง” เป็นต้น เป็นที่มาของมองว่าคำสอนในศาสนาเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการกินดีอยู่ดีและการแสวงหาคุณค่าและความหมายชีวิตของแต่ละคน แนวคิดที่ว่า “พระเจ้าตายแล้ว” “ศาสนาล้าสมัย ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” ฯลฯ ส่งผลให้พระศาสนจักรต้องทบทวนตนเองในด้านวิธีการนำเสนอการประกาศข่าวดี

2) ท่าทีของพระศาสนจักร

การแบ่งชนชั้น การเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งแนวคิดที่ยึดแต่คุณค่าของวัตถุ ปฏิเสธและมองข้ามความสำคัญของจิตใจ เป็นเหตุให้ผู้นำพระศาสนจักรพยายามนำเสนอคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของชีวิต ตามเจตนารมณ์ของพระเยซู ผ่านทางการสอนทางการของพระศาสนจักร (สมณสาร) เพื่อปลุกจิตสำนึกและกระตุ้นเตือนสังคมให้พัฒนาชีวิตมนุษย์ตามแนวทางที่ส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง ในฐานะที่มนุษย์มีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีจิตวิญญาณอันเป็นลักษณะพื้นฐานและเอกลักษณ์ของชีวิตมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาความเจริญของสังคม

3) การประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2

ความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมของพระศาสนจักร เพื่อทบทวน ปรับปรุง “วิธีการ” และการดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานเพื่อประกาศข่าวดีแห่งอาณาจักรพระเจ้า เป็นจริงเป็นจังด้วยการจัดประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน ระหว่างปี ค.ศ. 1962 - 1965 พระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23[58] ทรงจัดและมีพระประสงค์ที่จะปรับปรุงคำสอนและแนวคิดของคริสต์ศาสนาให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสังคม พระองค์จึงทรงประกาศเรียกบรรดามุขนายกทุกประเทศเข้าร่วมประชุม[59] โดยมีตัวแทนบาทหลวง นักบวช ฆราวาสและผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ รวมถึงมีการเชิญผู้ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา โรมันคาทอลิก เข้าร่วมเป็นที่ปรึกษาและผู้สังเกตการณ์ด้วย การประชุมสภาสังคายนาเสร็จสมบูรณ์ในสมณสมัยของพระสันตะปาปา ปอลที่ 6 (8 ธันวาคม 1965)

สิ้นสมัยประชุมสุดท้าย มีการจัดทำเอกสารจำนวน 17 ฉบับ พระสันตะปาปาปอลที่ 6[60] ทรงประกาศรับรองในปี ค.ศ. 1965 สาระสำคัญของแนวคิดเรื่องมนุษย์ตามเอกสารฉบับนี้ ไม่ใช่การนำเสนอแนวคิดใหม่ แต่เป็นการแสดงจุดยืนคำสอนคริสต์ศาสนาที่ยืนยันศักดิ์ศรีของมนุษย์ในฐานะเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า ในท่ามกลางกระแสค่านิยมของสังคมที่เน้นวัตถุและการพัฒนามนุษย์โดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดความเจริญของมนุษย์ และยิ่งกว่านั้นพระศาสนจักรได้มีท่าทีใหม่ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่นับถือความเชื่อเดียวกัน โดยสอนว่าใครก็ตามที่ปฏิบัติตามวิถีชีวิตของตนอย่างซื่อสัตย์และตามความจริง (เพราะพระเยซูเป็นความจริง... การดำเนินชีวิตตามความจริง คือ การดำเนินตามแบบพระเยซู) เขาก็สามารถบรรลุถึงความรอดพ้นได้ แม้จะไม่เป็นคาทอลิกหรือเป็นชาวคริสต์ก็ตาม จึงมีการส่งเสริมให้มีการเสวนาและสร้างความสัมพันธ์ในหมู่ผู้นับถือศาสนาต่าง ๆ นอกจากนั้น พระศาสนจักรยังได้ทำการปฏิรูปวิถีชีวิตคริสตชน โดยเฉพาะด้านพิธีกรรม มีการส่งเสริมให้มีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น การประยุกต์วัฒนธรรมให้เข้ากับท้องถิ่น โดยเฉพาะการใช้ภาษาท้องถิ่นในการร่วมพิธีกรรม และมีการปรับปรุงการบริหารองค์กรโดยเน้นการมีส่วนร่วมในแบบหมู่คณะที่รับผิดชอบร่วมกัน โดยให้มุขนายกมีส่วนร่วมในการพิจารณาและการบริหารปกครอง โดยถือว่าพระสันตะปาปาคือหัวหน้าของสมัชชาของมุขนายก (College of the Bishops) และส่งเสริมให้แต่ละประเทศมีสภามุขนายก (Bishops’s Conference) เพื่อการทำงานที่เป็นเอกภาพ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของฆราวาสทั้งด้านการอบรมศึกษาศาสนาและการประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น

4. ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเผยแผ่คริสต์ศาสนา

จากการประวัติศาสตร์ของศาสนาคริสต์ เราสามารถบอกข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการเผยแผ่คริสต์ศาสนาได้ดังนี้

4.1 สาเหตุของการประกาศศาสนา : พินัยกรรมของพระเยซูคริสตเจ้าและความปรารถนาดีของคริสตชน

เราอาจแปลกใจว่าทำไมอัครสาวกและผู้สืบทอดตำแหน่ง รวมทั้งบรรดาคริสตชนต่างสำนึกถึงบทบาทหน้าที่ในการประกาศศาสนา แรงจูงใจสำคัญที่สุดคือ คำสั่งของพระเยซูคริสตเจ้าให้ออกไปเทศน์สอนเกี่ยวกับข่าวดีแห่งความรอดพ้นพ้น ดังพระดำรัสที่ว่า “พระเจ้าทรงมอบอำนาจอาชญาสิทธิ์ทั้งหมดในสวรรค์และแผ่นดินให้แก่เรา เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต จงสอนให้เขาปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน จงทราบเถิดว่าเราจะอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ” (มธ 28: 18 – 20) และนอกจากนั้นพระเยซูคริสตเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติตามบัญญัติแห่งความรัก ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้คริสตชนต้องประกาศข่าวดีแห่งอาณาจักรของพระเจ้า

4.2 ผู้มีหน้าที่ในการประกาศศาสนาคริสต์

คริสตชนทุกคนได้รับมอบภารกิจในการประกาศข่าวดีแห่งความรอดพ้น (ศาสนาคริสต์) แต่ทั้งนี้เนื่องจาก พระเยซูคริสตเจ้าทรงแต่งตั้งอัครสาวก (12 ท่าน โดยมีเปโตรเป็นหัวหน้า) จึงมีความสำนึกว่าการประกาศศาสนาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้นำพระศาสนจักรที่สืบตำแหน่งจากอัครสาวก โดยคริสตชนมีหน้าที่ให้การอำนวยความสะดวกและปฏิบัติตามผู้นำของพระศาสนจักร

4.3 รูปแบบ/วิธีการการประกาศศาสนา

บรรดาผู้นำพระศาสนจักรต่างสำนึกถึงบทบาทหน้าที่ในภารกิจการประกาศศาสนาที่สืบเนื่องจากอัครสาวก จึงได้พยายามส่ง “ผู้ประกาศศาสนา” (หรือที่เรียกว่า “ธรรมทูต” หรือ“มิสชันนารี”) ไปยังดินแดนต่าง ๆ โดยมีการเตรียมบุคลากร มีระบบการอบรมที่ค่อย ๆ พัฒนามากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้มีข้อสังเกตดังนี้

4.3.1 การประกาศศาสนาไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป หลายครั้งในประวัติศาสตร์เราพบว่า “ผู้ประกาศศาสนา” ต้องถูกเบียดเบียน ถูกทรมานและถูกฆ่าตาย

4.3.2 การประกาศศาสนาหลายครั้งมีเจตนาอื่นแฝง มีเรื่องผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการล่าอาณานิคม บ่อยครั้งที่ผู้นำพระศาสนจักรได้ “ฝากฝัง” การประกาศศาสนาไว้กับบรรดากษัตริย์ หลาย ๆ ท่านมีเจตนาที่ดีในภารกิจ แต่หลายท่านหวังผลประโยชน์ในการล่าเมืองขึ้น และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการประกาศศาสนา เนื่องจากแต่ละประเทศมีนโยบายที่ไม่ตรงกัน

4.4 การแก้ปัญหาของผู้นำพระศาสนจักร : การจัดตั้งองค์กรเพื่อการประกาศศาสนา

บรรดาผู้นำพระศาสนจักรมองเห็นถึงปัญหาที่ฝากฝังการประกาศศาสนาไว้กับผู้นำประเทศ ต่อมาจึงมีการจัดตั้งองค์กรพิเศษ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “สมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อ” ที่ค่อย ๆ ดึงอำนาจการประกาศศาสนากลับคืนสู่ผู้นำพระศาสนจักร และทำให้การประกาศศาสนามีนโยบายและแนวทางที่เป็นเอกภาพยิ่งขึ้น มีการจัดส่ง “ธรรมทูต” ไปยังดินแดนห่างไกลเป็นชุด ๆ และทำเอกสารส่งรายงานสันตะสำนักเป็นระยะ ๆ เพื่อรายงานความเป็นไป

4.5 ภาพรวมการประกาศศาสนาของโปรแตสแตนท์

เนื่องจากคริสตชนโปรแตสแตนท์มีหลายนิกาย แต่ละนิกายจึงมีนโยบายและวิธีการประกาศศาสนาแตกต่างกันไป บางนิกายมีการจัดตั้งเป็นสมาคมที่รับผิดชอบส่งคนไปสอนศาสนาในประเทศอาณานิคม และค่อย ๆ พัฒนาเป็นระบบมากขึ้น มีการส่งมิชชันนารีไปประกาศศาสนาคริสต์ตามแนวโปรแตสแตนท์ (ตามรูปแบบนิกายของตน)

5. สรุป

คริสตชนเชื่อว่าประวัติศาสตร์ศาสนาคริสต์เริ่มต้นตั้งแต่กำเนิดมนุษยชาติ พระเจ้าทรงสถาปนาความสัมพันธ์กับมนุษย์ที่เรียกว่าพันธสัญญา ทรงค่อย ๆ เผยแสดงแผนการแห่งความรอดพ้นผ่านทางบางบุคคล สถานการณ์และชนชาติที่ทรงเลือกสรร ทรงสัญญาจะส่งพระแมสซีอาห์เพื่อนำพามนุษยชาติสู่ความรอดพ้นพ้น ที่สุดพระองค์ประทานพระเยซูคริสตเจ้าแก่มนุษย์ตามที่ทรงสัญญาไว้ เพื่อสถาปนาอาณาจักรของพระเจ้า มีหลายคนได้เชื่อมั่นศรัทธา และก่อตัวเป็นขบวนการดำเนินชีวิตตามแบบพระเยซูคริสตเจ้า ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าพระองค์ทรงรับทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพเพื่อทำให้ภารกิจการไถ่บาปสำเร็จไป

หลังจากที่บรรดาสาวกของพระเยซูคริสตเจ้าได้รับจิตของพระเจ้า ทำให้พวกท่านมีกล้าหาญในการประกาศ “ข่าวดีแห่งความรอดพ้นทางองค์พระเยซูคริสตเจ้า” มีการประกาศความเชื่อทั้งในและนอกดินแดนปาเลสไตน์ และค่อย ๆ ขยายตัวสู่ที่อื่น ๆ ผู้มีความเชื่อยุคแรก ๆ ถูกเบียดเบียน แต่จำนวนคริสตชนกลับยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น ที่สุดมีการก่อตัวเป็นสถาบันและ “สถาบันคริสต์ศาสนา” กลับกลายเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสังคมในยุคต่อ ๆ มา พัฒนาการของศาสนาคริสต์ในด้านประวัติศาสตร์ เราอาจพบทั้งความน่าชื่นชมและความหดหู่ ความดีงามและความบกพร่อง แต่ คริสตชนมองว่าชีวิตของพวกเขาเป็นเหมือนกับประชากรอิสราเอลในพันธสัญญาเดิมที่บางครั้งก็มีข้อบกพร่อง แต่พระเจ้ายังคงรักเมตตาและประทับอยู่กับพวกเขาเสมอ ทรงมีแผนการที่จะพามนุษยชาติสู่ความรอดพ้นพ้นในรูปแบบต่าง ๆ ความสำนึกทางประวัติศาสตร์ทำให้คริสตชนมองประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน แก้ไขในสิ่งที่ผิดและสืบทอดคุณค่าแห่งอาณาจักรของพระเจ้า มองปัจจุบันด้วยความสำนึกและรับผิดชอบในการเป็นพยานแห่งความเชื่อที่ได้รับการถ่ายทอดมา มองอนาคตด้วยความหวังที่จะบรรลุถึงชีวิตนิรันดร อาศัยการร่วมมือกับพระพรของพระเจ้า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคต่าง ๆ ได้นำมนุษยชาติไปสู่วิถีชีวิตใหม่ ศาสนาคริสต์ได้พยายามฟื้นฟูชีวิตคริสตชนหลายวิธี การแยกเป็นนิกายต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นอันเป็นผลจากความพยายามดังกล่าวนี้เอง แม้การแตกแยกในศาสนาคริสต์ในอดีตจะเต็มไปด้วยความหดหู่และไม่ได้สะท้อนถึงการเป็นประชากรของพระเจ้าและบทบาทในการเป็นประจักษ์พยานแห่งการดำเนินชีวิตที่มุ่งหน้าสู่อาณาจักรของพระเจ้า แต่กระนั้น ในปัจจุบันสิ่งที่พระศาสนจักรให้ความสำคัญมากที่สุดคือ การสานสัมพันธ์ในฐานะผู้มีความเชื่อเดียวกัน โดยมีพระเยซูคริสตเจ้าเป็นศูนย์กลาง ความพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์อย่างจริงใจและมีพื้นฐานของการเคารพให้เกียรติกันและกัน เพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน ด้วยท่าทีของความสำนึกว่าอย่าให้ความแตกต่างในรายละเอียด เป็นที่มาของความแตกแยกในการมุ่งหน้าสู่ชีวิตที่สมบูรณ์ในอาณาจักรของพระเจ้า


[1]การสร้างโลก (สรรพสิ่ง) ในหนังสือปฐมกาล เป็นเรื่อง “ก่อนประวัติศาสตร์” ที่ไม่มีทางที่จะหาพยานมาพิสูจน์ความจริงได้เลย แต่ชาวยิวและคริสตชนเชื่อว่า พระเจ้าทรงดลใจให้มนุษย์ผู้นิพนธ์พระคัมภีร์นำเอาตำนานโบราณเกี่ยวกับกำเนิดโลกมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ เพื่อจะใช้เป็นทางสอนความจริงบางข้อเกี่ยวกับพระเจ้า เกี่ยวกับมนุษย์และปัญหาของมนุษยชาติโดยทั่วไป และอย่าลืมว่า “ความจริง” ที่พระคัมภีร์ต้องการนำเสนอ ไม่ใช่ความจริงทางวิทยาศาสตร์หรือโบราณคดี เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของพระคัมภีร์ หากเป็นความจริงทางเทววิทยา-ทางศาสนา. จึงไม่มีความจำเป็นอันใดเลยที่จะต้องพยายามอธิบายพระคัมภีร์ให้เข้ากับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรืออธิบายทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ให้เข้ากับพระคัมภีร์ เพราะวิทยาศาสตร์กับพระคัมภีร์พูดถึงปัญหาคนละอย่าง แม้ทั้งสองจะพูดถึง “ต้นกำเนิดของโลก” เหมือนกันก็ตาม แต่ทั้งสองก็มองปัญหากันคนละแง่. (ทัศไนย์. 2529: 24 – 25).
[2]ชื่อเดิมคือ อับราม ต่อมาพระเจ้าเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “อับราฮัม”
[3]คาดว่าชาวอิสราเอลอยู่ในประเทศอียิปต์ระหว่างปี 1700 – 1250 ก่อน ค.ศ. (ทัศไนย์ คมกฤส, 2529: 68-69).
[4]คริสตชนเชื่อว่าชาวอิสราเอลในหนังสือปฐมกาลและอพยพ เป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ ที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงในชีวิต ที่มีทั้งสุขและทุกข์ แต่พระเจ้าทรงประทับอยู่กับพวกเขาเสมอ.
[5]คริสตชนเชื่อว่าพระผู้ไถ่ (พระแมสซีอาห์) คือ พระเยซูคริสตเจ้า.
[6]ชาวอิสราเอลมีทั้งสิ้น 12 ตระกูล/เผ่า โดยมีบุตรชายทั้ง 12 คน ของยาโคบ/อิสราเอล (ซึ่งเป็นหลานของอับราฮัม ซึ่งเป็นต้นตระกูลของชาวอิสราเอล) ได้แก่ รูเบน สิเมโอน เลวี ยูดาห์ ดาน นัฟทาลี กาด อาเชอร์ อิสสาคาร์ เศบูลูน โยเซฟ (เอฟราอิม-มนัสเสห์) และเบนจามิน (ปฐก 29 – 30, 42: 33 - 36).
[7]ซาอูลไม่ยอมทำตามสิ่งที่พระเจ้าตรัสผ่านทางซามูเอล ว่าอย่าจงทำลายทรัพย์สินของข้าศึก แต่ซาอูลกลับปล่อยให้ทหารของท่านนำทรัพย์สินเหล่านั้นกลับมา (1 ซมอ 15).
[8]เนื่องจาก “ดาวิด” เป็นกษัตริย์ที่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า จึงเป็นที่โปรดปรานของพระองค์มากที่สุด ดังนั้น จึงมีการบันทึกเรื่องราวของท่านมากกว่ากษัตริย์อื่น ๆ ของชาวอิสราเอล.
[9]แม้ต่อมาลูกหลานของดาวิดจะไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า แต่พระเจ้ายังคงซื่อสัตย์ต่อพระสัญญาของพระองค์ และพระสัญญาของพระเจ้านี้ ไม่ได้หมายถึงการครอบครองอาณาจักรฝ่ายโลก (เพราะอาณาจักรยูดาห์/อิสราเอล ถูกทำลายในเวลาต่อมา และสิ้นสุดการปกครองระบบกษัตริย์ด้วยการเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรบาบิโลน ในราวปี 587 ก่อน ค.ศ.) แต่หมายถึงอาณาจักรของพระเจ้า (การที่มนุษย์สามารถบรรลุถึงชีวิตที่สมบูรณ์ในพระเจ้า) ซึ่งพระองค์ทรงกระทำให้เป็นจริงในพระเยซูคริสตเจ้า.
[10]ชาวยิวเชื่อว่าชาติของตนมี่พระเจ้าเป็นผู้ปกครองสูงสุด พระเจ้าเลือกสรรชาวยิวให้เป็นประชากรของพระองค์ ดินแดนของชาวยิวจึงเป็นดินแดนที่พระเจ้าประทานให้ การยอมรับและขึ้นต่อรัฐบาลโรมัน ถือว่าเป็นการทรยศต่อพระเจ้า.
[11]ในพระวรสารเล่าถึงการบังเกิดของพระเยซูคริสตเจ้า นำเสนอว่าพระเยซูคริสตเจ้าเป็นพระผู้ไถ่ที่พระเจ้าสัญญาจะประทานให้ชาวอิสราเอล.
[12]โยเซฟ เป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด นี่เองทำให้พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์ดาวิด.
[13]นักบุญยอห์น บัปติส เป็นบุคคลที่คริสตชนเชื่อว่าพระเจ้าทรงส่งมาเพื่อเตรียมจิตใจประชากรของพระองค์ในการต้อนรับพระผู้ไถ่ โดยย้ำถึง “การกลับใจ” ท่านสิ้นชีวิตด้วยการถูกตัดศีรษะ ด้วยคำสั่งของเฮโรด (ผู้ปกครองชาวยิว) เนื่องจากท่านตำหนิการกระทำของเฮโรด ที่นำภรรยาของน้องชายมาเป็นภรรยาของตน.
[14]การกลับใจจากการประพฤติ ปฏิบัติตนแต่เพียงอยู่ในกรอบของตัวอักษร ตามธรรมบัญญัติ จนลืมจุดหมายในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ คือ การสร้างความสัมพันธ์กับพระเจ้า.
[15] คนเก็บภาษี เป็นอาชีพที่ชาวยิว สมัยพระเยซู ถือว่าเป็นอาชีพที่เป็นคนบาป เนื่องจากคอยเก็บเงินจากคนร่วมชาติไปส่งให้ชาวโรมัน.
[16]ชาวยิวทำการฉลองเทศกาลปัสกาทุกปี เพื่อระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงนำประชากรของพระองค์จากการเป็นทาสในอียิปต์ สู่การเป็นไทในแผ่นดินแห่งพันธสัญญา ภายใต้การนำของโมเสส.
[17]ชาวคาทอลิก ระลึกถึงการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มของพระเยซูคริสตเจ้าว่า “วันอาทิตย์ใบลาน”. หรือวันอาทิตย์ก่อนวันสมโภชปัสกาของคริสตชน.
[18]ชาวยิวมีธรรมเนียมฝังศพในโพรงหินหรือในถ้ำ แล้วเอาหินปิดไว้.
[19]มีการศึกษาค้นคว้าและยืนยันได้ว่าเป็นการบันทึกโดยนักบุญลูกา เป็นบุคคลเดียวกับที่ได้นิพนธ์พระวรสารเล่มที่สาม.
[20]ได้แก่ เปโตร ยอห์น ยากอบ อันดรูว์ ฟิลิป โธมัส บาร์โธโลมิว มัทธิว ยากอบบุตรของอับเฟอัส ซีโมนผู้เป็นชาตินิยม และยูดาสบุตรของยากอบ (กจ 1: 12) ต่อมาภายหลัง มีการเลือก “มัทธีอัส” ให้มาแทนที่ยูดาส ที่ได้ทรยศพระเยซูคริสตเจ้า สาวกกลุ่มนี้จึงได้ชื่อว่า “อัครสาวก ทั้งสิบสอง”.
[21]เป็นวันสมโภชที่สำคัญของชาวยิว (ศาสนายิว) ซี่งนักบุญลูกา อธิบายว่าวันสมโภชนี้หมายถึง การระลึกถึงพระเจ้าทรงแสดงองค์ที่ภูเขาซีนาย. (เชิงอรรถ a พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่.)
[22]สเตเฟน เป็นคนแรกที่ถูกฆ่าตายเพราะเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า. (กจ 6 – 7).
[23]หรือเรียกว่าโลกเฮลเลนิสต์ (Hellenistic world) อันเป็นโลกที่รวบรวมชาติต่าง ๆ มากมายหลายชาติไว้ด้วยกัน อาศัยภาษาและวัฒนธรรม
[24]Gamaliel เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านพระคัมภีร์และธรรมเนียมชาวยิว เปิดสำนักสอนอยู่ที่กรุงเยรูซาเล็ม
[25]ทรรศนะที่ถือว่าจักรวาลดำเนินไปตามกฎเกณฑ์ตายตัว หากมนุษย์ใช้เหตุผลก็จะเข้าใจกฎเกณฑ์เหล่านี้และจะรู้ว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ความรู้และความเข้าใจนี้จะทำให้จิตสงบ ความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ความสงบของจิตใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมนุษย์ไม่ยึดติดกับวัตถุภายนอก (ราชบัณฑิตยสถาน, 2543: 93)
[26] ต่อมา จะค่อยๆ พัฒนาสู่การเป็นศาสนบริกรสงฆ์สามขั้น ได้แก่ มุขนายก บาทหลวงและสังฆานุกรในปัจจุบัน (สำหรับศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิก).
[27] คำว่า “ศีล” หรือ “ศีลศักดิ์สิทธิ์” แปลจากภาษาอังกฤษว่า Sacrament คำว่า “ศีล” นี้ เป็นศัพท์เฉพาะของศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิก (ซึ่งไม่ได้มีความหมายว่า “ข้อห้าม” ตามคำว่า “ศีล” ของพุทธศาสนา) คำว่า “ศีลศักดิ์สิทธิ์” ของคาทอลิก หมายถึง การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาคริสต์ อันเป็นเครื่องหมายภายนอกเพื่อแสดงออกถึงความสัมพันธ์ของศาสนิกชนกับพระเจ้า เป็นเครื่องหมายถึงการประทานพระพรของพระเจ้า ในศาสนาคริสต์ โรมันคาทอลิกประกอบด้วยศีลศักดิ์สิทธิ์เจ็ดประการ ได้แก่ ศีลล้างบาป (Baptism) ศีลกำลัง (Confirmation) ศีลมหาสนิท (Communion) ศีลอภัยบาป (Confession) ศีลสมรส (Matrimony) ศีลบวช (Order) และศีลเจิมคนไข้ (Anointing of the Sick)
แต่ละศีลศักดิ์สิทธิ์ มีพระหรรษทานเฉพาะ ได้แก่ ศีลล้างบาป ทำให้ได้รับพระหรรษทานแห่งการเป็นบุตรของพระเจ้า ศีลกำลังทำให้ได้รับพระหรรษทานจากพระจิตเจ้าเพื่อทำให้คริสตชนเข้มแข็ง ศีลมหาสนิท ทำให้ได้รับพระเยซูเจ้าเข้ามาในชีวิต ทำให้มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง ศีลอภัยบาป ได้รับพระหรรษทานแห่งการคืนดีกับพระเจ้า ศีลเจิมคนไข้ ทำให้ได้รับพระหรรษทานแห่งการบำบัดรักษาโรคภัยทางกายและจิต ศีลแต่งงาน ทำให้ได้รับพระหรรษทานในการดำเนินชีวิตครอบครัว และศีลบวช ทำให้ได้รับพระหรรษทานในการเป็นผู้แทนของพระเยซูเจ้าบนโลก.

[28] หรือพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณในปัจจุบัน.
[29]ที่สุด อาณาจักรยิวได้ล่มสลาย ชาวยิวต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น จนมีการสถาปนาประเทศอิสราเอลขึ้นใหม่ ในปี ค.ศ. 1948.
[30]เช่น บันทึกของ ยูเซบีอุส แห่งซีซารียา.
[31]บันทึกของออร์รีเจน ใน Commentaries on Genesis เล่มที่ 3.
[32]เช่น บันทึกของแตร์ตูเลียน ราวปลายศตวรรษที่ 2.
[33]จากเอกสารนอกสารบบพระคัมภีร์.
[34]เช่น เอกสาร “บันทึกวาระสุดท้ายของเปโตรและเปาโล” จากจดหมายของนักบุญเคลเมนต์แห่งโรมถึงชาว โครินธ์ (ประมาณ ค.ศ. 95) เป็นต้น.
[35]การเบียดเบียนครั้งแรกมีบันทึกว่าเริ่มใน ค.ศ. 64 ในรัชสมัยจักรพรรดิเนโร.
[36]รอบกรุงโรม มีการขุดพบคาตากอมป์ หรืออุโมงค์ฝังศพของคริสตชนหลายจุด แต่ละจุดมีศพหลุมคริสตชนจำนวนมาก การเจาะกาตากอมบ์ที่โรมทำได้ง่าย เพราะดินอ่อนแต่แข็งตัวเมื่อเจาะแล้ว กาตากอมป์มีความยาวหลายกิโลเมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงโรม.
[37]มีบันทึกของลักตันติอุส (Lactantius) และยูเซบิอุส นักเขียนคริสตชนได้อธิบายว่าชัยชนะเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ จักรพรรดิคอนสแตนตินได้เห็นไม้กางเขนมีแสงสว่างจ้าบนท้องฟ้า พร้อมกับข้อความว่า “ท่านจะมีชัยชนะอาศัยเครื่องหมายนี้” ทำให้จักรพรรดิ์คอนสแตนตินมานับถือคริสต์ศาสนา ทรงสั่งให้เขียนเครื่องหมายกางเขนที่ธงชัยเฉลิมพล เพื่อให้พระเยซูคริสต์สนับสนุนท่านให้ประสบความสำเร็จ.
[38]เช่น บันทึกของอาแบรซิอุส ออริเจน และเอเรนีอุส.
[39] อาณาจักรโรมันได้แบ่งการปกครองออกเป็นสองอาณาจักร คือ อาณาจักรตะวันตก มีกรุงโรมเป็นเมืองหลวง และอาณาจักรตะวันออกมีเมืองคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง
[40]หมายถึง มุขนายกแห่งโรม หรือ พระสันตะปาปา ซึ่งคริสตชน (คาทอลิก)ให้การยอมรับว่าเป็นผู้นำ/ประมุขสูงสุด.
[41] คริสตชนมีรูปแบบการปกครองเป็นเขตๆ แต่ละเขตมีหัวหน้าที่เรียกว่า Bishop (มุขนายกหรือ พระสังฆราช)
[42]จึงมีการเรียกศาสนบริกรที่เป็นบาทหลวงว่า “Father” หรือ คุณพ่อ.
[43] หมายถึง สุสานที่ฝังศพคริสตชนในยุคแรก โดยการขุดอุโมงค์สำหรับฝังศพ อุโมงค์หนึ่งสามารถฝังศพคริสตชนได้จำนวนมาก.
[44] การกลับใจ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงชีวิต จากการดำเนินตามกระแสหรือค่านิยมของโลก สู่การดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระเยซูคริสตเจ้า.
[45] การขับไล่ออกจากการเป็นสมาชิกของพระศาสนจักร.
[46]ในปัจจุบัน มีการใช้คำว่า “การรับผิดชอบร่วมกัน” (Collegiality) ซั่งมีลักษณะช่วยเสริมสร้างเอกภาพในระหว่างพระศาสนจักรต่าง ๆ.
[47]ปัจจุบันคือ เมืองเอดินเบิร์ก ประเทศตรุกี.
[48] เนื่องจากระยะทางจากโรมไปคอนสแตนติโนเปิลอยู่ห่างไกลกัน... ทำให้การสื่อสารเกี่ยวกับข้อความเชื่อและจารีตประเพณีเริ่มแตกต่างกัน
[49]นักบุญโทมัส อาไควนัส เป็นนักบวชคณะดอมินิกันและนักบุญบอนาเวนตูรา แห่งคณะฟรังซิสกัน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาปรัชญาและเทววิทยาของคริสต์ศาสนา
[50]ในกรณีของกาลิเลโอ ที่เสนอแนวคิดว่าโลกกลม และผู้นำพระศาสนจักรให้ท่านหยุดการเสนอความคิดดังกล่าวและถูกกักบริเวณ เป็นต้น.
[51]พระคุณการุณ เป็นพระพรของพระเจ้าที่มอบให้พระศาสนจักร เพื่ออภัยบาป ภายใต้เงื่อนไขที่พระศาสนจักรกำหนด เนื่องจากพระศาสนจักรสำนึกว่าตนมีหน้าที่ในการนำพระพรของพระเจ้ามาสู่มนุษยชาติ อาศัยการปฏิบัติคุณงามความดีของพระเยซูคริสตเจ้า พระนางมารีย์และบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ (บรรดานักบุญ) ของพระศาสนจักร.
[52]ในสมัยมาร์ติน ลูเทอร์ มีการประทานพระคุณการุณเพื่ออภัยบาปแก่คริสตชนที่บริจาคทรัพย์สมบัติเพื่อบำรุงพระศาสนจักรในสมัยนั้น.
[53]ลูเทอร์ได้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาเยอรมัน เจตนาของท่านคือต้องการให้คนทั่วไปอ่านพระคัมภีร์ได้ เพื่อจะได้เข้าถึงวิถีชีวิตคริสตชนอย่างแท้จริง ในขณะที่ผู้นำพระศาสนจักรในสมัยนั้นไม่อนุญาตให้แปลพระคัมภีร์ ให้จำกัดเฉพาะ “พระคัมภีร์ภาษาละติน” เท่านั้น (ต่อมาในสภาสังคายนาวาติกันที่สอง พระศาสนจักรส่งเสริมมีการแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาท้องถิ่น และประยุตก์พิธีกรรมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย)
[54] หมายถึง แนวคิดที่สอนให้ความรู้ทุกชนิดเริ่มต้นที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางความคิด.
[55] ดำรงตำแหน่งประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ระหว่างปี ค.ศ. 1922 – 1939.
[56]ปัจจุบัน วาติกัน มีสถานภาพเป็น “รัฐ” มีเนื้อที่ประมาณพันไร่ ประกอบด้วยที่ประทับและสำนักงานของพระสันตะปาปา มหาวิหารเปโตรและจตุรัสเปโตร รวมถึงมหาวิหารที่สำคัญและที่ทำการของกระทรวงต่าง ๆ ของวาติกันที่กระจัดกระจายทั่วกรุงโรม
[57]ระหว่าง ปี ค.ศ. 1869 – 1870 มีการจัดสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่วาติกัน เป็นความพยายามทำให้สถาบันพระสันตะปาปาแข็งแกร่งสู้กับค่านิยมของยุคสมัย โดยยืนยันความไม่ผิดพลาดของพระสันตะปาปา.
[58] ดำรงตำแหน่งประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ระหว่างปี ค.ศ. 1958 – 1963.
[59]ประกอบด้วยบรรดามุขนายก (Bishop) 2,860 ท่าน.
[60] ดำรงตำแหน่งประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ระหว่างปี ค.ศ. 1963 – 1978.